บัญญัติสิบข้อต่อ(อาหาร)แบบเสียดสี
อารมณ์เสียดสีแบบคนอังกฤษเป็นเช่นไรให้ลองนึกถึงนวนิยายเรื่อง Animal Farm ของ จอร์จ ออร์เวล (George Orwell) ที่ใช้ฉากภายในไร่ปศุศัตว์แห่งหนึ่งเสียดสีระบบการปกครองและแนวคิดทางการเมืองผ่านสัตว์ต่างสายพันธุ์ อารมณ์ประชดประชันแบบคนอังกฤษเป็นเช่นไรให้นึกถึงนวนิยายเรื่อง Gulliver ‘s Travel ของ โจนาธาน สวิฟท์ (Jonathan Swift) ที่ประชดประชันระบอบสังคมและการเมืองของอังกฤษในศตวรรษที่สิบแปด และถ้าถามว่าอารมณ์ถากถางแบบคนอังกฤษเป็นเช่นไรให้นึกถึงนวนิยายเรื่อง Alice in Wonderland ของ ลิวอิส แคร์รอลล์ (Lewis Carroll) ที่หัวเราะแบบขำขื่นต่อชีวิตในยุควิคตอเรียน
เจย์ ไรเนอร์ (Jay Rayner) เป็นคอลัมนิสต์ด้านอาหารที่มีชื่อเสียงของหนังสือพิมพ์ The Guardian หนังสือพิมพ์ชั้นนำของอังกฤษ นอกจากงานเขียนรายสัปดาห์แล้ว ไรเนอร์ยังมีทั้งนวนิยายและงานเขียนเชิงสารคดีด้านอาหารอีกหลายเล่มอาทิเช่น My Last Supper, My Dining Hell หรือ The Oyster House Seige งานเขียนของเขาแม้จะข้องเกี่ยวกับอาหารหากแต่มันมักถูกเขียนขึ้นเพื่อเยาะเย้ยและถากถางบางสิ่งที่นอกเหนือจากนั้นอีกทั้งยังแสดงอารมณ์ขันแบบคนอังกฤษอยู่เสมอ ในหนังสือเล่มบางเล่มนี้อันได้แก่ The Ten (Food) Commandments เขาได้หยิบยกเอาบัญญัติสิบประการที่ศาสดาโมเสสได้รับจากพระเจ้าเมื่อหลายพันปีก่อน แต่แน่นอนเมื่อมันเป็นงานเขียนเชิงเสียดสีประชดประชัน เนื้อหาภายในหนังสือจึงไม่เกี่ยวข้องใดเลยกับบัญญัติต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นการอย่าออกนามของพระเจ้าโดยไม่จำเป็นหรืออย่ากระทำการใส่ร้ายผู้อื่น บัญญัติทั้งสิบข้อของไรเนอร์ ในหนังสือเล่มนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับอาหารทั้งสิ้นเริ่มแต่
ข้อที่หนึ่ง-เราพึงใช้มือทานและกินอาหารบ้างเป็นครั้งคราวโดยเฉพาะในคราวที่จำเป็น
ข้อที่สอง-เราจำเป็นต้องใส่ใจกับอาหารที่หลงเหลือจากโต๊ะอาหารให้มากกว่านี้
ข้อที่สาม-เราควรหัดลิ้มลองอาหารที่เป็นที่นิยมของบุคคลอื่นบ้างบางครั้ง
ข้อที่สี่-เราควรทำอาหารทานเองให้สม่ำเสมอ
ข้อที่ห้า-เราควรเลิกมองไขมันเป็นศัตรูเสียที
ข้อที่หก-เราควรคัดเลือกเพื่อนที่มาร่วมวงอาหารอย่างจริงจัง
ข้อที่เจ็ด-เราควรศึกษาอาหารที่ทำขึ้นจากผักไว้บ้าง
ข้อที่แปด-เราควรทดลองทานอาหารที่มีกลิ่นรุนแรงไว้เพื่อเป็นประสบการณ์
ข้อที่เก้า-เราไม่ควรคิดว่าอาหารนั้นใช้ทดแทนยาไปได้เสียทุกอย่าง
และข้อที่สิบ-เราควรเคารพหมูในฐานะวัตถุดิบของอาหารให้มากๆ
บัญญัติสิบประการที่ว่านี้หากฟังดูอย่างผิวเผินแต่แรกอาจไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นสิ่งสลักสำคัญใดเลย แต่น้ำเสียงทีเล่นทีจริงแบบขบกัดของไรเนอร์ ทำให้แต่ละหัวข้อเกิดความสำคัญและมีอรรถรสขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง นับแต่บัญญัติแรกที่เขาเริ่มต้นด้วยการวิพากย์วิจารณ์ความพยายามใช้ส้อมและมีดอย่างประดักประเดิดในการกินแฮมเบอร์เกอร์ของเดวิด คาเมรอน (นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น) เพื่อแสดงออกให้เห็นถึงความสุภาพของตัวเขาในช่วงการรณรงค์หาเสียงทั้งที่ในความเป็นจริงหาก เดวิด คาเมรอนจะใช้มือสองข้างของเขาหยิบฉวยแฮมเบอร์เกอร์เข้าปากอาจแลดูงดงามกว่า เป็นธรรมชาติกว่าและได้รับการชื่นชมจากผู้พบเห็นกว่าด้วย การปฏิเสธการใช้มือและนิ้วในการกินอาหารโดยการคำนึงถึงความสุภาพ ไม่ควรถือเป็นกฏตายตัว ไรเนอร์กล่าวว่ามีใครเอร็ดอร่อยมากขึ้นเล่ากับการใช้มีดและส้อมในการกินไก่ทอดชิ้นโตที่กรอบกรุบในขณะที่การใช้มือนั้นง่ายและให้รสชาติที่ดีกว่ามากและยิ่งไม่ต้องพูดถึงการดันทุรังจะใช้มีดและส้อมในการกินซูชิหรือข้าวปั้นของญี่ปุ่น ซึ่งในกรณีที่ว่านี้จะทำให้คุณแลดูเหมือนคนป่ามากกว่าเป็นผู้มีอารยะดังที่คุณตั้งใจ
บัญญัติข้อที่สองกล่าวถึงปัญหาการบริโภคที่เกินควรของสังคมยุคปัจจุบันและก่อให้เกิดอาหารที่หลงเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ไรเนอร์กล่าวว่าแนวคิดที่เราใช้สอนเด็กว่าจงกินให้หมดเพราะยังมีผู้คนที่หิวโหยอีกมากในโลกควรหมดไปเสียที สิ่งที่เราควรทำคือหาทางจัดการเอาอาหารที่เหลือเหล่านั้นมาปรุงขึ้นใหม่อย่างเอร็ดอร่อยให้เด็กทั้งหลายได้ลิ้มลอง การกระทำเช่นนี้ต่างหากคือสิ่งที่จำเป็น เขายกตัวอย่างเมนูหนึ่งไว้ท้ายบัญญัติข้อนี้คือการนำเอาบะหมี่สำเร็จรูปจากเอเชีย (จะบะหมี่ของไทย ไต้หวันหรือเกาหลีไม่น่าผิดกฏใดๆ) มาต้มเข้ากับน้ำซ๊อสที่เหลือจากการทำพาสต้าหอยลาย เพียงเพิ่มเบคอนและพริกป่น ก็จะได้อาหารอีกหนึ่งมื้อที่น่าลิ้มลอง
การจัดการปัญหาในทำนองนี้ ใครที่เคยลิ้มรสแกงโฮะจากทางภาคเหนือคงพอนึกภาพได้ออก การเอาอาหารจำนวนมากที่หลงเหลือจากมื้อก่อนมาผัดรวมกันเป็นอาหารใหม่ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งเป็นตัวแทนของการการแก้ปัญหาชั้นเลิศในแนวทางนี้ ในพม่าก็เช่นกัน พระภิกษุจะนำอาหารที่เหลือจากการขบฉันมาทำการโฮะเช่นนี้ด้วยเช่นกัน ทุกบ่ายอาหารที่เหลือจะถูกนำมารวมและปรุงขึ้นใหม่ และใครก็ตามที่ต้องการอาหารมื้อเย็นในวันนั้นก็สามารถจะมาขอปันจากวัดได้โดยง่าย
ข้อที่สาม-เราควรออกแสวงหาและสนใจอาหารที่แปลกใหม่เสมอ ในข้อนี้ ไรเนอร์ยกตัวอย่างของเอสตัน บลูเมนทัล (Heston Blumental) เชฟเจ้าของร้าน Fat Duck อันเลื่องชื่อที่ในวัยหนุ่มเขายอมทำงานเก็บเงินเพื่อเดินทางไปตามหาปรมาจารย์ด้านช็อคโกแลตในแคว้นบริตานี ประเทศฝรั่งเศสและได้รับการถ่ายทอดวิชามาในที่สุด เมนูหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเดินทางในครั้งนั้นคือของหวานที่มีชื่อว่า Salt Caramel ความกระตือรือล้นที่ว่านี้ ไรเนอร์กล่าวว่าเราจะพบเห็นได้จากภาพอาหารที่ถูกนำลงในอินสตราแกรมและโซเชี่ยล มีเดีย อื่นๆ อีกซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการกระจายตัวของวัฒนธรรมอาหารจากนานาพื้นที่
บัญญัติข้อที่สี่นั้นปลุกเร้าให้ผู้อ่านทดลองใช้ชีวิตที่พึ่งพาร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อให้น้อยลง อีกทั้งยังเน้นการสร้างทักษะและความชำนาญให้มากขึ้น แนวคิดข้อนี้ดูไม่ต่างจากประเด็นในหนังสือ Cooked ของ ไมเคิล พอลเลน นักกิจกรรมอาหารผู้โด่งดังที่นำเสนอว่าการได้ทำอาหารทานเองในบางครั้งของเราจะเปิดมุมมองใหม่ๆ ของเราต่อกระบวนการและที่มาของวัตถุดิบในการทำอาหาร การทำอาหารอาจแลดูยุ่งยากในตอนแรกแต่หลังจากการที่เราสามารถจัดการกับปัญหาในครัวได้ดีขึ้นและดีขึ้น การทำอาหารเองจะกลายเป็นกิจกรรมที่เพลิดเพลินและสร้างสรรค์อย่างมากกิจกรรมหนึ่งในชีวิตเรา
ข้อที่ห้านั้นไรเนอร์ตั้งเป้าโจมตีไปที่กลเม็ดเด็ดพรายของเหล่าผู้คนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารที่จะต้องแสวงหาผู้ร้ายหรือมีข้อเสนอใหม่ๆเกี่ยวกับสุขภาพด้านอาหารที่มักมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เสมอ การประโคมข่าวว่าด้วยพิษภัยจากไขมันในอาหารที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคหัวใจก็ตาม การกินไข่มากเกินไปจนก่อให้เกิดภาวะไขมันอุดตันก็ตาม การกินแป้งมากเกินไปก็ตามจนเป็นโรคอ้วน แม้จะมีความจริงในบางประการแต่เมื่อสืบค้นลึกลงไปเรื่องราวทั้งหมดนี้ล้วนมีที่มาที่ไปที่ไม่โปร่งใสทั้งสิ้น นอกจากการใช้ข้อหาเหล่านี้เล่นงานคู่แข่งในตลาดอาหารแล้ว ยังมีเรื่องของการฉ้อฉลในวงการอาหารและยาอีกด้วย ไรเนอร์บอกว่าง่ายที่สุดคือเราควรกินอาหารที่เพียงพอไม่มากไปในสิ่งใดและไม่น้อยไปในสิ่งใด เขานำเสนอเมนู Cheese Fondue อันเป็นเมนูยอดนิยมในฝรั่งเศสปิดท้าย
ข้อที่หกนั้นเป็นข้อเสนอที่จิกกัดการสังสรรค์ในวงอาหาร เรื่องที่ว่านี้อาจฟังดูไม่สำคัญ จะเป็นคนเช่นไร เราก็อยู่ร่วมกันในมื้ออาหารไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น จะถือจริงจังทำไม แต่ไรเนอร์บอกว่าการเลือกคนมาร่วมวงอาหารอย่างไม่ตั้งใจก็เหมือนการเลือกอาหารที่ไม่มีรสชาติหรือไม่ถูกปากนั่นเอง ลองนึกภาพการกินสเต๊กเนื้อวากิวชั้นดีโดยที่มีเพื่อนร่วมโต๊ะอาหารที่คอยเทศนาโทษและพิษภัยของการกินเนื้อสัตว์อยู่ทุกนาทีก็คงพอนึกออกได้ว่ามื้ออาหารที่ว่านั้นจะเเห้งแล้งเพียงใด
ข้อที่เจ็ดไรเนอร์ได้กล่าวถึงกระแสอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยม เขานำเสนอว่ากระแสดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การปรุงอาหารจากสิ่งอื่นที่ทำเทียมเนื้อสัตว์เปิดโอกาสให้โลกของอาหารได้ทำการสร้างสรรค์ และการทดลองชิมหรือลิ้มรสอาหารเหล่านั้นก็เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับพวกเราด้วย ทว่าสิ่งที่สำคัญคือการเลิกมองอีกฝ่ายในฐานะคู่แข่งขันหรือศัตรู คนกินอาหารจากพืชผักก็ควรใจกว้างที่จะยอมรับว่ามีผู้คนมากมายที่ชื่นชอบรสชาติจากเนื้อสัตว์และคนที่ชื่นชอบเนื้อสัตว์เหล่านั้นก็ไม่ควรมองคนกินเนื้อผักในทำนองที่เป็นคนที่ไม่สนใจรสชาติมากเกินไป
บัญญัติข้อแปดนั้นน่าสนใจ ไรเนอร์พูดถึงอาหารที่มีกลิ่นที่รุนแรงอย่างทุเรียน น้ำปลาหรือชีสบางประเภท และกล่าวว่าพวกเรามักมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธอาหารเหล่านั้น สาเหตุหนึ่งมักมาจากความทรงจำในวัยเด็ก ดังนั้นการทดลองกินอาหารที่มีกลิ่นรุนแรงคือการก้าวข้ามประตูที่ปิดตายเหล่านั้นและเปิดมิติใหม่แห่งการลิ้มลอง เราอาจจะจำเป็นต้องฝึกฝนตนเองให้มากสักหน่อยในบัญญัติข้อที่ว่านี้ แยก กลิ่น รส และรสชาติ ของมัน การที่เราสามารถทานอาหารที่หลากหลายได้ถือว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพในตัวเรา
ข้อที่เก้านั้น ไรเนอร์พูดถึงความเชื่อในวงการอาหารสมัยใหม่ที่มักยกให้อาหารบางชนิดมีสรรพคุณเกินจริงและทำหน้าที่เกินอาหารในด้านของรสชาติ อาหารนั้นไม่ถูกปากเรา แต่เราถูกทำให้เชื่อว่าการกัดกินมันจะทำให้เรามีสุขภาพดีในที่สุด
ส่วนข้อที่สิบนั้น ไรเนอร์ได้รวบรวมหลายประเด็นถกเถียงไว้ในข้อนี้ เริ่มตั้งแต่การยกตัวอย่างหมูอันเป็นสัตว์ที่เนื้อของมันสามารถทำอาหารได้ทุกส่วน ดังนั้นการกินเนื้อที่สำคัญคือการกินอย่างเคารพต่อวัตถุดิบดังกล่าว และหมูดูจะเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมที่เราไม่ได้สังหารมันเพียงเพื่อความสนุก วิธีการกินอาหารแบบทุกส่วนได้เอื้อต่อการแก้ปัญหาเรื่องการสูญเปล่าทางอาหาร (Food Waste) การกินเนื้อแบบเคารพทำให้คนที่กินเนื้อไม่แลดูเป็นผู้ที่โหดร้ายต่อสัตว์เกินไป
The Ten (Food) Commandments แม้ดูภายนอกจะเป็นหนังสือที่อ่านไปได้แบบเพลินๆ แต่ทว่าภายใต้จำนวนหน้าที่ไม่กี่ร้อยหน้านี่เอง ไรเนอร์ได้ทำงานอย่างชาญฉลาดในการหยิบยกประเด็นที่ถกเถียงกันในเรื่องราวของอาหารมานำเสนออย่างน่าสนใจ เพียงแค่การอ่านแต่ละข้อบัญญัติเหล่านี้วันละข้อเป็นเวลาติดต่อกันสิบวัน นอกจากความเพลิดเพลินแล้ว ผู้อ่านน่าจะมองเห็นอะไรบางอย่างต่อมื้ออาหารของตนเองได้เป็นแน่
Jay Rayner
The Ten (Food) Commandments
สำนักพิมพ์ Penguin General UK
จำนวนหน้า 160 หน้า
SBN: 9780241976692