The New Green Deal
จากพื้นที่รกร้างสู่พื้นที่การเกษตรแหล่งอาหารปลอดสารใจกลางเมือง

ในบ่ายวันเสาร์สิ้นเดือนที่ร้อนที่สุดของปี มิตรสหายที่ทำงานด้านอาหารและการพัฒนาชุมชนได้เชื้อเชิญ Episteme ให้ลองมาเยือน g Garden – Urban Farming & Farmers Connected สักครั้ง แรกพบเราประทับใจในความร่มรื่นเขียวชอุ่มของต้นไม้นานาพันธุ์ สระบัวใจกลางสวนสะท้อนเงาของกลุ่มอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้าโดยรอบ เสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในสนาม บ้างวิ่งไปเก็บผักและไข่ไก่ทำให้เราแทบจะจำสภาพเดิมของพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้ คุณอาจไม่เชื่อว่าสวนผักแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางอาคารสูงระฟ้าของย่านธุรกิจแห่งใหม่บนถนนพระราม 9 การทำการเกษตรในเมืองหรือ Urban Farming ที่มักจะฟังดูเพ้อฝัน แต่ในทันทีที่เราได้เข้ามาในสวนแห่งนี้ Urban Farming ก็ไม่ใช่แค่ไอเดียหรือความคิดสวยหรูบนกระดาษอีกต่อไป เราได้ลงนั่งพูดคุยกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ ต่อจากนี้เป็นบทสนทนาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวการทำงานที่เราเชื่อว่าจะทำให้หัวใจของคุณพองโต

Episteme: ก่อนที่เราจะชวนคุยถึงรายละเอียดของโครงการ g Garden ขอทำความรู้จักคุณโชคให้มากขึ้นสักนิดนะคะ ไม่ทราบว่า เป็นมาอย่างไร คุณโชคถึงมาทำ Urban Farm หรือการเกษตรในเมืองแห่งนี้คะ?

โชคชัย: สวัสดีครับผม โชคชัย หลาบหนองแสง ก่อนอื่นผมไม่ได้เรียนจบเกษตร หรือทางด้านพัฒนาเมือง แต่ผมเคยได้สัมผัสงานด้านนี้มาแล้วรู้สึกชอบ และพบว่ามีหลายพื้นทิ้งว่างที่ยังไม่มีคนเข้าไปพัฒนา ส่วนก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำโครงการนี้ ผมทำงานด้านอาหารและการเกษตรอยู่ ผมทำพื้นที่ให้กับเกษตรกรได้มาจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายมากขึ้น ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ คือทำอย่างไรก็ได้ให้พวกเขาขายผลผลิตให้ได้มากที่สุด

พอพูดถึงจุดนี้ ผมเห็นปัญหานึงของเกษตรกรคือ ยังขายของไม่เป็น เน้นการผลิตเป็นหลัก และถึงแม้จะเป็นของคุณภาพดี รสชาติอร่อย ปลอดสารพิษ หายาก ก็ประสบปัญหาด้านงานขาย การตลาด พอขายไม่ได้ของดีๆ ก็กลายเป็นของเหลือ เราก็เลยมาตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ใช้ความรู้ที่เรามีมาช่วยเกษตรกรปล่อยของให้ได้มากที่สุด หน้าที่ขายเป็นของเรา ส่วนเกษตรกรก็ทำหน้าที่พัฒนาผลผลิตให้มันดียิ่งขึ้น

Episteme: แปลว่าคุณโชคเชี่ยวชาญด้านการขายและการตลาด?

โชคชัย: เอ่อ ตัวผมสนใจมากกว่า ผมไม่ได้เรียนมาโดยตรง คือมันมีงานที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เรื่องงานขายและการตลาด (Sales and Marketing) แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย มันสนุกดี พอเราได้เรียนรู้ด้านนี้แล้วอยากจะพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ คือถึงเราจะไม่ได้เรียนจบมาโดยตรง แต่ก็ผ่านการอบรม ผ่านการค้นหาความรู้ด้วยตนเอง เรามีโอกาส พอได้เรียนเสร็จแล้ว มีเวทีให้เราได้ทดลองทำจริง ทฤษฎีไหนที่เราได้อ่านมา เราได้เอามาลองทำเลย ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่คือมันสนุก ก็เลยทำให้เราอยู่ในวงการนี้มาเรื่อยๆ

Episteme: ถ้าเช่นนั้น จริงๆ แล้วคุณโชคเรียนจบด้านอะไรคะ?

โชคชัย: ถ้าถามว่าเรียนจบอะไร  ผมจบปริญญาตรีทาง Biology ด้านรังสีวิทยา
คือมันอย่างนี้ครับ เราเอารังสีมาฉายให้กับพืชเพื่อเปลี่ยนโครโมโซม ให้มันกลายพันธุ์ เป็นการปรับปรุงพัฒนาพันธ์ุให้มันดียิ่งขึ้น ก็เป็นความรู้ตอนปริญญาตรี แล้วพอปริญญาโท ก็จะเป็นเรื่องของพลังงานทดแทน ซึ่งความรู้ที่ศึกษามาจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้ใช้เลยครับ (หัวเราะ)

แต่สิ่งที่เราได้จากที่เรียนมาก็คือเรื่องวิธีคิด การวิเคราะห์ การทดลอง การพิสูจน์สิ่งที่เราคิดว่าเป็นจริงไหมอะไรแบบนี้ครับ ก็จะเป็นเรื่องของหลักวิทยาศาสตร์ที่นำมาปรับใช้เป็นพื้นฐานวิธีคิดของเรา ส่วนในเรื่องการทำงาน จะเป็นการค้นหาอะไรใหม่ๆ เรียนรู้ ทดลอง เพื่อเก็บผลมาวิเคราะห์ มาสรุปผลว่ามันเป็นอย่างไร คล้ายๆ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ก่อนจะทำการทดลอง ก็ต้องตั้งสมมติฐาน ทำการทดลอง แล้วมาสรุปผลการทดลอง วิเคราะห์ว่าผลที่ได้เป็นอย่างไร จะมีวิธีการไหนบ้างที่จะช่วยให้มันดีขึ้น นั่นคือไอเดีย แนวคิดที่ได้ร่ำเรียนมา และนำมาใช้ในการทำงานที่มีความแตกต่างกันไป เอาเข้าจริงก็คือถึงตัวงานจะแตกต่างกันไป แต่ก็ใช้หลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในการทำงานคล้ายๆ กันครับ

Episteme: ที่ผ่านมาคุณโชคทำงานที่เน้นให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ตลาดและผู้ซื้อ อะไรที่ทำให้คุณโชคหันมาพัฒนาพื้นที่รกร้างในเมือง หรือที่ที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ มาเป็น Urban Farm อย่าง g Garden อย่างทุกวันนี้คะ?

โชคชัย: คือในระหว่างการทำงานที่ผ่านมา เราจะเห็นข้อจำกัด ปัญหาระหว่างทางที่เกิดขึ้น ปัญหานึงที่เราเจอในระหว่างที่หาช่องทางการขาย คือเราเป็นผู้จัดตลาด Farmer Market ซึ่งมีลักษณะเป็นอีเว้นต์ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนที่จัดไปเรื่อยๆ แล้วเราก็พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่มักจะถามว่า ปกติแล้วเราขายอยู่ที่ไหน  ซึ่งคำถามนี้ก็ทำให้เราเอ๊ะ ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเราไม่หาที่ใดสักที่นึงเป็นพื้นที่ตรงกลางที่จะสื่อสารกับผู้คน เช่นว่าช่วงนี้เราอยู่ตรงนี้ประจำ ส่วนที่หลือก็เวียนไป ถ้าไม่ได้จัดงานที่ไหน เราก็กลับมาประจำที่เดิม และอีกอย่างนึงคือ เราไม่ได้เน้นแค่ขายอย่างเดียว แต่ทำหน้าที่สื่อสารด้วย ซึ่งงานสื่อสารและงานสร้างการเรียนรู้มันต้องใช้พื้นที่  คราวนี้พอเรามีความคิดและความต้องการหลายๆ อย่างที่อยากจะทำ เราก็ต้องหาโมเดลอะไรสักอย่างที่จะรวมเอาทุกอย่างไว้ด้วยกัน ซึ่งก็ออกมาเป็น Urban Farm ที่มีทั้งพื้นที่ตลาด Farmer Market ที่ให้เกษตรกรได้เข้ามาจำหน่ายผลผลิต มีพื้นที่แปลงผัก แปลงสาธิตให้ผู้บริโภค คนเมืองได้เข้ามาดูมาเรียนรู้ แต่ก่อนเราก็ทำแปลงสาธิตแบบนี้ไปจัดแสดงตามงานอีเว้นต์ ซึ่งบางทีมันก็ไม่ตอบโจทย์  แต่พอเรามีพื้นที่แบบนี้แล้ว พวกเขาก็สามารถมาเรียนรู้จากพื้นที่จริงได้

Episteme: ดังนั้น g Garden คือ Urban Farm การเกษตรในเมืองที่ประกอบไปด้วยตลาด Farmer Market บวกเข้ากับศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ที่มีกิจกรรมเวิร์คช็อป (Workshop)

โชคชัย: ใช่ครับ พื้นที่ตรงนี้นอกจากมีพื้นที่เรียนรู้ มีเวิร์คช็อป ก็มีการจัดเสวนา ให้เกษตรกรได้มาถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกพืช เรื่องการผลิต ซึ่งโมเดล Urban Farm มันตอบโจทย์หลายๆอย่างที่เราทำงานมาก่อนหน้านี้เลย

Episteme: เบื้องหลังไอเดีย Urban Farm นี้เกิดขึ้นจากการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดพื้นที่กลาง หรือฐานที่มั่นให้กับเกษตรกร อันนี้เป็นความต้องการของทางคุณโชค อยากทราบว่าตอนที่คุณโชคไปนำเสนอ (pitching) โครงการ g Garden กับทางเจ้าของที่ดิน คุณโชคอธิบายว่าต้องการนำพื้นที่ตรงนี้มาทำอะไรบ้างคะ?

โชคชัย: หลักๆ ก็เสนอไปว่าจะนำพื้นที่ตรงนี้มาทำงานที่เราทำอยู่ก่อนแล้ว ก็มี Farmer Market สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรในเมือง จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เวิร์คช็อปต่างๆ เป็น core idea แกนสำคัญเลย ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดตามมาเป็นส่วนที่เราวิเคราะห์และทำการสำรวจความต้องการของผู้คนในชุมชน เช่น สำรวจว่าพวกเขาสนใจผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ (organic) หรือสนใจตลาด Farmer Market ไหม และสอบถามว่าคนในพื้นที่ต้องการอะไรจากพื้นที่ว่างตรงนี้

Episteme: คุณโชคออกแบบใช้สอย บริหารจัดสรรพื้นที่โครงการ g Garden ตรงนี้อย่างไรคะ?

โชคชัย: คือพอเราได้ความคิดตั้งต้นมาจำนวนนึงแล้ว เราก็นำมาคุยกันว่านอกจากข้อมูล ความต้องการที่มี เราจะออกแบบการใช้พื้นที่ได้อย่างอื่นไหม มีอะไรอีกบ้าง ก็เลยนำไปสู่การออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้มีทั้ง สนามเด็กเล่น มีร้านกาแฟ มีส่วนต่อเติมต่างๆ ที่จะดึงให้ผู้คนสนใจก่อน เน้นให้เข้ามาใช้พื้นที่ ส่วนเรื่องการเกษตรก็จะเป็นส่วนของประสบการณ์ที่จะได้โดยอ้อม คือเราให้เขาเข้ามาเจอกับสิ่งที่ตนเองชอบก่อน แล้วค่อยไปเรียนรู้กับสิ่งที่เราเตรียมไว้ให้

Episteme: น่าสนใจมากค่ะ ถ้าเช่นนั้น การออกแบบการใช้พื้นที่ของ g Garden หลักๆ ก็จะอยู่บนความสนใจของผู้คน ความต้องการของชุมชนที่อยู่ในบริเวณนี้

โชคชัย: ใช่ครับ เป็นการผสมผสานกันระหว่างสิ่งที่คนที่นี่ต้องการ กับสิ่งที่เราถนัด สิ่งที่เรามี ต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้หลายๆ ความต้องการมันอยู่รวมกันได้ จนออกมาเป็นรูปแบบเฉพาะของโครงการ g Garden นี้ครับ

Episteme: ขอถามเจาะลึกอีกนิดนะคะ การพูดคุยขอใช้พื้นที่กับเจ้าของที่ตรงนี้ยากไหมคะ?

โชคชัย: ไม่ยากครับ เพราะว่าผมมีหลักอย่างนึง คือเขาอยากได้อะไร เรามีอะไร และชุมชนตรงนี้อยากได้อะไร แล้วเรานำทุกอย่างมาประมวล มา integrate กันให้ออกมาเป็นโครงการที่ตอบสนองทุกฝ่าย

Episteme: คือทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

โชคชัย: ใช่ครับ ทางบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และ GLAND เองก็ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่เรียนรู้การเกษตรในเมือง และตอบโจทย์ความต้องการของชุมชุนตรงนี้ด้วยครับ

Episteme: จุดนึงที่น่าสนใจเกี่ยวการออกแบบการใช้งานพื้นที่ที่คุณโชคเล่าเมื่อสักครู่ คือการคำนึงถึงความต้องการของผู้คนและชุมชนเป็นหลัก เน้นการออกแบบที่ดึงดูดให้ผู้คนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงก่อน มีความสุขที่ได้เข้ามาแล้วค่อยๆ ให้เกิดการเรียนรู้ไปตามธรรมชาติ หรือสนใจกิจกรรมทางการเกษตรต่างๆ ของโครงการโดยที่ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับยัดเยียดให้เรียน

โชคชัย: ถูกต้องครับ เอาจริงๆ ก็มีหลายอย่างที่เราออกแบบไว้นะ แต่พอใช้งานจริงไปสักระยะนึง เราเริ่มสังเกตเห็นว่ากิจกรรมหรือพื้นที่ตรงนั้นไม่ถูกใช้งาน ผู้คนก็ไม่ได้ประโยชน์ เราก็ค่อยๆ ลดสัดส่วนพื้นที่ตรงนั้นลง แล้วก็ไปพัฒนาในส่วนที่ใช้งานได้จริง ส่วนที่คนให้ความสนใจ พื้นที่ที่คนส่วนใหญ่ชอบไปอยู่ ก็คล้ายๆ การทำการทดลอง AB Testing ที่มีการลดเพิ่มปรับเปลี่ยนจากแผนเดิมที่เราออกแบบไว้ให้เป็นไปตามการใช้งานจริง

Episteme: ดูเหมือนว่าการพัฒนาพื้นที่ที่จะให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่แผนแรกแผนเดียว ทำครั้งเดียวแล้วจบเลย

โชคชัย: ใช่ครับ เราต้องปรับไปเรื่อยๆ เราปรับตาม user ผู้ใช้งานจริง เมื่อเข้ามาใช้พื้นที่แล้ว รู้สึกโอเคไหม และหากว่าเราจะไปพัฒนาโครงการนี้ในพื้นที่อื่น ที่ที่ใหม่ เราก็จะใช้วิธีการนี้ในการออกแบบจัดสรรพื้นที่เช่นกัน สุดท้ายแล้วรูปแบบการใช้งานพื้นที่ของแต่ละโครงการก็จะต่างกันไปตามแต่ละความต้องการของชุมชน เพราะผู้ใช้งานเปลี่ยนไป ความต้องการไม่เหมือนกัน function ของพื้นที่ก็เปลี่ยนไป

Episteme: คุณโชคกำลังบอกว่า หากนักพัฒนาที่ดิน ยึดการออกแบบของตนเองเป็นหลัก ไม่ได้คำถึงถึงผู้ใช้งาน ทำโครงการแล้วไม่ปรับเปลี่ยนหรือติดตามผล สุดท้ายก็อาจไม่เกิดการใช้งานจริง สร้างแล้วคนไม่ได้เข้าไปใช้ 

โชคชัย: ใช่ คือถ้าเรามีเงิน เราอยาก copy paste โครงการเดิมไปวางหลายๆ ที่ มันก็ไม่มีปัญหาหรอก แต่เราไม่ได้มีเงินแบบนั้น เราอยู่ได้ด้วยคน ด้วยการใช้งานจริง ถ้าไม่มีการใช้งานโครงการก็อยู่ไม่ได้ และกลายเป็นโครงการร้างไป

Episteme: เราได้คุยกันถึงที่มา แนวความคิด การออกแบบจัดสรรการใช้พื้นที่กันไปพอสมควร อยากชวนคุณโชคพูดถึงโมเดลการทำการเกษตรในเมือง Urban Farming ที่นำมาใช้ในการออกแบบโครงการ g Garden ส่วนตัวคุณโชคมองว่า Urban Farming ในต่างประเทศ กับในบ้านเรา มีความเหมือนหรือแตกต่างกันไหม อย่างไรคะ?

โชคชัย: โดยหลักการแล้วผมว่ามันคล้ายๆ กันนะครับ ก็คือความพยายามที่พัฒนาพื้นที่ที่มันว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้กลายเป็นแหล่งอาหาร เป็นพื้นที่พักผ่อน เป็นพื้นที่สำหรับงานอดิเรกสำหรับชุมชนผู้คนที่อยู่รอบๆ พื้นที่ตรงนั้น ส่วนหากจะมีรูปแบบอื่นๆ มันก็เป็นเรื่องของ Gimmick สร้างสีสัน เช่น มีร้านกาแฟ  แต่โดยหลักพื้นฐานคือ การใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์แก่คนในชุมชน คนในพื้นที่ ยกตัวอย่างในต่างประเทศ เราจะเห็นว่าผู้คนไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามเมืองเพื่อมาใช้พื้นที่สีเขียว เราจะเห็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่ส่วนรวมให้อยู่ในทุกชุมชน ให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ เข้าถึงได้ง่าย

Episteme: คุณโชคมองว่าการทำ Urban Farming ในไทยนี่ถือว่าประสบความสำเร็จ และมีมากเพียงพอหรือยังคะ?

โชคชัย: ผมว่าในไทยยังมีไม่เยอะนะ อย่าง g Garden เองเราสังเกตเห็นว่ามีคนจากต่างพื้นที่ต้องขับรถเดินทางมาไกลเพื่อมาเที่ยวชมศึกษาการทำเกษตรกลางเมืองตรงนี้ ซึ่งผมว่ามันจำเป็นต้องมีพื้นที่เรียนรู้แบบนี้นะ ให้คนได้มีโอกาสได้เข้ามาสัมผัส มาทดลอง แล้วอยากกลับไปทำบ้างในพื้นที่ชุมชนของเขา ยอมรับว่าแนวคิด Urban Farming อาจจะยังใหม่สำหรับเรา การพัฒนาพื้นที่ในเมืองให้เป็นแหล่งเพาะปลูกสร้างอาหารยังเป็นเรื่องแปลกใหม่ ยังดูว้าวอยู่ แต่ที่จริงแล้ว ถ้าในอนาคตพื้นที่การใช้งานแบบนี้มีอยู่ในทุกซอย ทุกถนน คนก็จะชิน การทำการเกษตรในเมืองก็จะเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนจะต่อเติมสร้างสีสันก็จะเป็นเรื่องของการใช้งานในแต่ละพื้นที่

Episteme: ทาง g Garden เองก็ยินดีที่จะแบ่งปันความรู้ เป็นติวเตอร์ช่วยให้เกิดการขยายตัวของ Urban Farming ออกไป

โชคชัย: ใช่ครับ และอีกปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นตัวเร่งให้เกิด Urban Farming ได้เร็วขึ้น คือตัวกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเรียกเก็บภาษีจากผู้ถือครองที่ดินที่ปล่อยให้ที่กลายเป็นที่รกร้าง ผมเชื่อว่าหากปรับปรุงกฎข้อบังคับจะช่วยให้เจ้าของที่ดินพบว่าไม่จำเป็นต้องปลูกแค่กล้วยหรือเอาแค่มะนาวไปลงเท่านั้นเพื่อที่จะลดหย่อนภาษี แต่สนับสนุนให้เจ้าของที่ดินหันมาใช้พื้นที่เพื่อสาธารณะประโยชน์มากขึ้น ที่ได้ทั้งการลดหย่อนภาษี ได้ผลผลิตทางการเกษตรและประโยชน์แก่ชุมชนรอบๆ

Episteme: ลดการปลูกกล้วยที่เรามักจะเห็นเวลาเดินทางในเมือง ยิ่งช่วงนึงนิยมปลูกกันมาก ปลูกเร็วเหมือนเอาต้นไปปักชำอย่างเร่งด่วน

โชคชัย: และมีการควบคุมให้มันไม่โตมาก ปล่อยให้มันแกร่นๆ หน่อย (หัวเราะร่วน)

Episteme: หรือจริงๆ แล้วเขาทำสวนบอนไซกล้วย?

โชคชัย: (หัวเราะ) ในประเด็นนี้ทางเราเองก็มีมองๆ ว่าไว้ในอนาคต เราอยากจะทำระบบการจัดการบริหารพื้นที่การเกษตรในเมือง เช่นทางเจ้าของที่ต้องการลดหย่อนภาษี อยากปลูกมะนาว ปลูกอะไรก็แล้วแต่ ทางเราจะเข้าไปช่วยดูแลจัดการเรื่องการเพาะปลูกและผลผลิต คือตั้งแต่เริ่มต้นปลูก เจ้าของที่ดินก็ได้ลดหย่อนภาษีคุ้มแล้ว และหากดูแลดีๆ เราจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีมากพอที่จะแบ่งปันกับชุมชนได้ ดังนั้นเจ้าของที่จะได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของภาษีและการทำงานช่วยเหลือชุมชน อย่างที่ทางเซ็นทรัลพัฒนา และ GLAND ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ การให้พื้นที่ g Garden ทำหน้าที่เป็นแม่แบบ เป็นตัวอย่างให้กับเจ้าของที่ดินอื่นๆได้เห็นว่าโครงการแบบนี้สามารถทำได้จริง ไม่ได้ยุ่งยาก พื้นที่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในระยะเวลาที่ตกลงกัน

Episteme: การให้ใช้พื้นที่เพื่อทำโครงการเกษตรในระยะเวลาที่กำหนดน่าจะเป็นอะไรที่เจ้าของที่กังวล

โชคชัย: จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการต้นแบบ มีโมเดลที่ทำงานได้จริงในระยะเวลาที่ตกลงชัดเจน เป็นช่วงเวลาที่เจ้าของที่ไม่ได้ใช้งานในพื้นที่นั้น อย่าง g Garden ตรงนี้เราได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่เป็นเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดเราก็ทำการย้ายออก ซึ่งเป็นไปตามโมเดลของเราที่ออกแบบให้มีการขยับขยาย ย้ายไปได้เรื่อยๆ

Episteme: เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าการทำโครงการของคุณโชคที่เข้าไปพัฒนาพื้นที่ให้เจ้าของที่ แล้วต้องย้ายออกเมื่อถึงกำหนดแบบนี้มันคุ้มค่าไหม?

โชคชัย: แม้เราไม่ได้รับเงินจากเจ้าของที่เพื่อมาพัฒนาที่ดินรกร้าง แต่เขาอนุญาตให้เราเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของเขา ซึ่งทุกอย่างที่เราเห็นใน g Garden ทางเราเป็นฝ่ายจัดหานำมาลง เมื่อโครงการจบลง เราย้ายออก ปรับพื้นที่คืน ซึ่งทุกอย่างเราได้คำนวณไว้หมดแล้วว่ามันคุ้มกับการลงทุน คนเมืองคนในชุมชนได้ประโยชน์ เรามีรายได้จากการบริหารจัดการจากสิ่งที่เราได้ลงทุนลงไป นอกจากนี้สิ่งที่เราได้มันมากกว่าตัวเลข คือเราได้นำเสนอไอเดีย และลงมือทำให้คนเห็นว่ามันทำได้จริง คือถ้าไม่มีใครลงมือทำ ก็จะมองภาพไม่ออกว่าจะให้พื้นที่เอาไปใช้งานได้อย่างไร รูปแบบเป็นอย่างไร คนไม่เห็นไม่เข้าใจก็จะกลับไปวนปลูกกล้วยปลูกมะนาวเหมือนเดิม แค่ลงครั้งเดียว มันเซฟดี ซึ่งผมมองว่าการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมแบบนี้ มันช่วยให้คุณภาพของคนในชุมชนดีขึ้น และได้ประโยชน์ในแง่สิ่งแวดล้อมด้วย เอาเข้าจริงๆประโยชน์มันเยอะมากถ้าเรามานั่งไล่ดู

Episteme: แล้วถ้ามีคนสนใจ หรือเจ้าของที่ดินอื่นอยากขอมาดูตัวเลขบัญชี ขอดูการทำงานของคุณโชคว่าทำได้จริงไหม คุ้มค่าไหม

โชคชัย: ยินดีเลยครับ มาดูได้เลยเพราะผมทำการบ้านมาแล้วยังไงก็คุ้ม คุ้มตั้งแต่ลดหย่อนภาษีแล้ว และหากอยากได้มากกว่านั้น เช่นผลผลิตทางการเกษตร มันสามารถทำได้แน่นอนครับ

Episteme: เมื่อไม่ต้องห่วงในเรื่องความคุ้มทุนแล้ว คุณโชคมองว่าปัจจัยอะไรที่ช่วยให้โครงการแบบนี้ได้ไปต่อได้ในระยะยาว เราจำเป็นต้องอาศัยอะไรบ้างคะ?

โชคชัย: ส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น ความอดทน คือในช่วงที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ทางบัญชียังไม่ชัดเจน เราต้องเชื่อมั่นในผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สร้างประโยชน์แก่ผู้คนส่วนรวม เรามองเห็นพ้องกัน แล้วลงมือเปลี่ยน ลงมือทำต่อไป จนโครงการแบบนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องทำ ต่อไปในอนาคตคนเมืองเห็นที่ว่างเปล่าแล้วก็จะปิ๊งไอเดียขึ้นมาเลยว่าจะทำอะไร จะปลูกอะไร ไม่ได้ปล่อยหรือมองเห็นเป็นแค่มุมอับ มุมรกร้าง การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์จะกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในความคิดคำนึงของคนเมือง โครงการแบบนี้ก็จะดำเนินต่อได้โดยธรรมชาติ

Episteme: นอกจากทางทีมผู้พัฒนาโครงการ เจ้าของที่ดิน และคนในชุมชนที่เชื่อว่าทำได้ เชื่อในประโยชน์จาก Urbam Farm แล้วภาครัฐล่ะคะ?

โชคชัย: เมื่อผู้คนประชาชนเริ่มทำแบบนี้โดยทั่ว ไปตรงไหนก็เห็น ผมเชื่อว่าเดี๋ยวภาครัฐก็จะตามมา เรื่องของนโยบาย ข้อบังคับต่างๆ ก็น่าจะง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้เท่าที่ทราบ ทางภาครัฐก็มีไอเดียที่จะนำพื้นที่รกร้างของภาครัฐเองออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นคือ การบริหารจัดการ มันไม่มีเจ้าภาพ อย่างหลายๆพื้นที่ของทางกรุงเทพมหานคร พอภาครัฐเข้าไปทำ ก็ไม่มีงบประมาณดูแล พอไม่มีคนเข้าไปดูแลต่อมันก็กลายเป็นพื้นที่ร้างไม่มีคนเข้าไปใช้งาน

Episteme: เมื่อสักครู่เราคุยถึงปัจจัยที่เอื้อให้โครงการได้ไปต่อ สำหรับคุณโชค อะไรคืออุปสรรคสำคัญที่โครงการแบบนี้ต้องหยุดชะงัก หรือไม่ได้เกิดขึ้นบ้างคะ?​

โชคชัย: ผมมองว่าเป็นเรื่องของคน คนที่เข้ามาดูแลโครงการ ผมขอยกตัวอย่างโครงการที่ทางเราเข้าไปพัฒนาร่วมกับชุมชน มันจะมีชุมชนที่ไม่สามารถบริหารจัดการ ไปต่อไม่ได้ คือในตอนแรกทุกคนจะเห็นดีเห็นงามชอบไอเดีย แต่พอหาคนที่จะเข้ามารับผิดชอบจริงๆ กลับไม่มี คือทุกคนติดหมด แต่จะเป็นประมาณว่าถ้ามีอะไรบอกได้นะ ทุกคนกลายเป็นอาสาสมัคร ไม่มีใครรับหน้าที่เป็นแกนนำ ในขณะที่บางชุมชนมีคนที่รับหน้าที่ดูแลเพียงแค่คนเดียวเลยนะ ก็กลายเป็นว่าโครงการก็ไปต่อได้เรื่อยๆ มีคนในชุมชนเข้ามาช่วย พอรัฐเห็นว่าพอมีความคืบหน้ามีการทำงานต่อ รัฐเองก็ได้หน้า ทางรัฐก็จะส่งความช่วยเหลือให้เป็นครั้งคราว โครงการในชุมชนนั้นก็เลยได้ไปต่อ

Episteme: ดูเหมือนว่าแม้โครงการจะดีมีประโยชน์แค่ไหน การที่จะได้ไปต่อไม่ได้ไปต่ออยู่ที่ว่ามีองค์ประกอบครบไหมระหว่างคนในชุมชน คนดูแลโครงการ และการสนับสนุนของภาครัฐ

โชคชัย: ครับ เป็นส่วนที่ทีม g Garden มองว่าคือส่วนที่เราสามารถช่วยได้ เข้าไปเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา เข้าไปเริ่มต้นให้ก่อนและดูแลจนทีมของชุมชนสามารถรับช่วงต่อดูแลด้วยตนเองได้ เราก็จะถอนตัวออกมาเพื่อไปพัฒนาพื้นที่ตรงอื่นต่อ เพราะยังมีพื้นที่ที่เราต้องเข้าไปช่วยอยู่อีกมาก และหากทีมของชุมชนนึงเริ่มเข้มแข็ง เขาก็สามารถช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนอื่นต่อได้ ขอยกตัวอย่างโครงการนึงในชุมชนเคหะที่ตอนนี้ทางเรากำลังเข้าไปช่วยตั้งต้น ซึ่งในชุมชนเคหะก็มีหลายตึก มีหลายหมู่ เราเริ่มโครงการที่ตึกนึง เราก็คาดหวังว่าชุมชนจากตึกอื่นๆ จะเข้ามาเรียนรู้ แล้วเอาไปทำในพื้นที่ของตัวเอง เกิดการขยายตัวออกไป

Episteme: ซึ่งอีกนิดก็เป็น MLM มีทีมแม่ทีมลูก

โชคชัย: (หัวเราะ) ต้องมีดาวน์ไลน์ คือมันต้องสร้าง network เครือข่ายช่วยเหลือกันมันถึงจะเข้มแข็ง

Episteme: นอกจากโครงการ g Garden นี้แล้ว คุณโชคมีไอเดีย หรือโครงการอื่นๆ อีกไหม อยากให้คุณโชคแบ่งปันให้ฟังหน่อยค่ะ

โชคชัย: มันมีอีกโครงการนึงที่คิดไว้ คือเมื่อเราสร้าง Urban Farm แบบนี้ไว้เยอะๆ แล้วเราก็อยากสร้าง online platform ที่จะเชื่อมกับทุกฟาร์ม ทุกพื้นที่เพาะปลูกในเมืองเพื่อบริหารจัดการผลผลิตที่เกิดขึ้น เช่น เราอยากกินแคนตาลูป ก็ค้นหาข้อมูลใน online platform นี้ แล้วระบบก็จะค้นหาว่ามีฟาร์มหรือคนปลูกแคนตาลูปที่อยู่ใกล้ๆเรานั้นมีที่ไหนบ้าง หากอยู่ไกลเกินที่จะเดินทางไปรับด้วยตนเอง ระบบของเราก็จะเข้ามาดูแลเรื่องการจัดส่ง ระบบ Logistics ดูแลเครือข่ายทั่วกรุงเทพฯ นำผลผลิตของผู้ผลิตในเครือข่ายส่งให้กับคนในท้องที่ ดูแลคนในกรุงเทพฯ ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหาร คราวนี้หากเกิดวิกฤต เช่นน้ำท่วม หรือภัยพิบัติอื่นๆ เราก็ไม่ต้องกลัวแล้วว่าจะไม่มีวัตถุดิบ ไม่มีรถขนส่งอาหารจากต่างจังหวัดมาให้คนกรุงเทพฯ  อีกเรื่องนึงที่สำคัญคือ platform นี้จะช่วยให้เรารู้ถึงแหล่งที่มาของอาหาร รู้ว่าปลูกอย่างไร ใช้สารเคมีหรือเปล่า หรืออยากเข้ามาเป็นเครือข่าย ส่งผลผลิตเข้าระบบเพื่อจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนผลผลิตกับฟาร์มอื่นๆ ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นไอเดียและความฝันอยู่

Episteme: ช่วงนี้อยู่ในบรรยาการการหาเสียง การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร สำหรับคุณโชคและคนทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนมีอะไรอยากจะฝากไปถึงผู้ว่าฯ คนใหม่ไหมคะ?

โชคชัย: ผมอยากจะฝากถึงว่าผู้ว่าฯ หรือภาครัฐว่า ไม่ต้องพยายามทำเองทุกอย่าง ขอแค่อำนวยความสะดวกให้ไอเดีย โครงการดีๆ ได้มีโอกาสเกิดขึ้น และช่วยดูแลเรื่องกระบวนการทำงาน ไม่ให้พวกเงื่อนไข กฎระเบียบมาเป็นอุปสรรคในการทำงาน ผมว่าช่วยแค่นี้ก็มีอีกหลายคน หลายฝ่ายพร้อมที่จะเข้ามาช่วยงานพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพฯ​ ขอแค่ช่วยเก็ทไอเดียและอำนวยความสะดวกก็พอครับ ผมว่าหลายคนที่เข้ามาช่วยงานสังคมจะหมดกำลังใจหมดแรงไปเสียก่อนเพราะเวลาทำอะไรก็ติดขัดไปหมด ไม่ใช่ทุกคนที่จะอดทนทำแบบผม ขนาดภาคเอกชนเองมีความพร้อมทั้งทุนและทรัพยากร แต่หากรัฐไม่สนับสนุนอำนวยความสะดวกจริงๆ ก็จะกลายเป็นหาเรื่องใส่ตัวเปล่าๆ ส่วนใหญ่จึงไม่ทำอะไร อยู่นิ่งๆ ไม่หาเรื่องเจ็บตัวดีกว่า ดังนั้นผมฝากแค่ให้ภาครัฐมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเมืองร่วมกัน เปิดทางให้ภาคประชาชน ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ผมว่าหลายฝ่ายพร้อมที่จะเข้ามาช่วย

Episteme: สุดท้ายนี้คุณโชคมีคำแนะนำ หรือความในใจที่จะฝากถึงคนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่สนใจใน Urban Farming ไหมคะ?

โชคชัย: ผมอยากให้จุดเด่นของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งก็คือความกล้า ผมอยากให้พวกเขานำความกล้าที่มี นำไปสู่การกล้าลงมือทำ ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดพลาด ขอให้ทดลองทำก่อนเลย ไม่ต้องคิดเยอะ พอเริ่มคิดเยอะแบบคนแก่ ก็จะอยู่ใน safe zone ตัวเอง ที่คิดแต่ไม่ทำ แล้วก็จะหมดไฟไป หรือมองแค่ว่าทำแค่นี้แหละพอแล้วจะหาเรื่องทำอีกทำไมมีแต่ปัญหา ผมแนะนำว่าให้มองว่าปัญหาคือสิ่งท้าทาย ติดตรงไหนก็ค่อยๆ แก้ไป สิ่งสำคัญที่สุดคือการลงมือทำครับ

You May Also Like
Read More

Marmalade

ถ้าพูดถึงคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ขึ้นมาในตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกภาพแยมส้ม หรือแยมเปลือกส้มขึ้นมา โดยอัตโนมัติ เรียกได้ว่าคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ที่แปลว่า ‘แยมส้ม’ นั้นกลายเป็นภาพจำและนิยามของคนปัจจุบันไปแล้ว หากแต่ว่าแยมส้มนั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘ร่างแปลง’ ของมาร์มาเลด ที่ถูกแปลงร่างเปลี่ยนความหมายไปจนมีความหมายที่แตกต่างจนสิ้นเค้าเดิม
Read More
Read More

Shio Ramen

ชินโด ราเมง เป็นร้านที่ตั้งอยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์สีเหลืองอ่อนในตรอกเล็กๆ ตรงข้ามกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หากคุณโชคดีก็จะมีคนหนึ่งหรือสองคน ยืนต่อแถวข้างหน้าคุณ แต่หากโชคร้ายแถวนั้นอาจยาวเสียจนคุณไม่มั่นใจว่าท้องจะสามารถอดทนรอให้ลิ้นของคุณรับรสอันลึกล้ำได้หรือเปล่า เพราะว่ามันอาจส่งเสียงโวยวายเสียงดังเสียจนคนข้างๆ คุณต้องเหลียวหลังมามอง
Read More
Jellied Eels
Read More

Jellied Eels

รสชาติของอังกฤษคืออะไร? หากไม่นับฟิชแอนด์ชิปส์ (Fish and Chips) พายเนื้อ (Meat Pie) ยอร์กเชอร์พุดดิ้ง (Yorkshire Pudding) ที่ยังได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นถึงปัจจุบัน ยังมีอาหารชนิดหนึ่งที่เคยเป็นตัวแทนของรสชาติแบบอังกฤษ ที่กำลังจะเลือนหายไปในปัจจุบัน อาหารที่ว่านั้นคือ เยลลีปลาไหล (Jellied Eels)
Read More
Read More

Culinary Triangle

“การใช้ไฟปรุงอาหารคือนวัตกรรมที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เช่นทุกวันนี้” โคลด เลวี-สโตรส (Claude Lévi-Strauss) เป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่อายุยืนที่สุดในโลก แม้ชื่อของเขามักจะถูกนำไปจำสลับกับกางเกงยีนส์ยี่ห้อดัง แต่สำหรับโลกวิชาการแล้วนั้น เขาคือแบรนด์ทางความคิดที่แข็งแรงและคงอยู่ข้ามศตวรรษ
Read More
Read More

Culinary Revolution

การกำเนิดขึ้นของแท่นพิมพ์ ดินปืน และเข็มทิศในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ได้นำพาความเปลี่ยนหลายอย่างมาสู่โลกของอาหาร เริ่มจากเครื่องเทศ และวัตถุดิบจากแดนไกลไม่ว่าจะเป็นอัฟริกา อินเดีย ละตินอเมริกาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอาหาร ถัดจากนั้นวิทยาการด้านการพิมพ์ทำให้ตำรับตำราอาหารเผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่องการปรุงและการทำไปทั่วทั้งยุโรป และที่สุดตำแหน่งพ่อครัวที่ไม่เคยมีบทบาทอะไร กลับเริ่มโดดเด่นขึ้นในฐานะของศิลปินผู้สร้างสรรค์จานอาหาร หนึ่งในนั้นได้แก่ มาเอสโตร มาร์ติโนแห่งโคโม (Maestro Martino of Como) พ่อครัวที่เคยทำงานในราชสำนักแห่งมิลาน ผู้เขียน Libro de arte coquinara (Book of the Art of Cooking)
Read More
Read More

Maillard Reaction

“การทำอาหารคือวิทยาศาสตร์” นี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่แพร่หลายในแวดวงอาหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าการค้นพบแนวคิดทฤษฎีสำคัญโดยมากนั้นมักไม่ค่อยถูกยอมรับในทันที อย่างผลงานของ Nicolaus Copernicus ที่เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็ต้องใช้เวลาเนิ่นนานนับเป็นร้อยปี กว่าจะเป็นที่ยอมรับในหมู่นักดาราศาสตร์และฟิสิกส์ จึงไม่แปลกอะไรที่นักเคมีและนายแพทย์ชาวฝรั่งเศส Camille-Louis Maillard จากเมืองน็องซี (Nancy) ผู้ค้นพบปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างอนุภาคน้ำตาลกับสารประกอบโปรตีนขณะได้รับความร้อน และได้เสนอความคิดนี้ต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิในปี 1912 ก็มิวายถูกมองเป็นเพียงรายงานวิจัยธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่งเท่านั้น
Read More