ภูมิศาสตร์อาหารญี่ปุ่น
ในปี 2007 นักเขียนสารคดีชาวอังกฤษนาม ไมเคิล บู๊ธ (Michael Booth) ได้ออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับครอบครัวเพื่อค้นหาว่าอะไรคือแก่นสารสำคัญของอาหารญี่ปุ่น ทั้งวิธีปรุง วิธีกิน เขาสนทนากับเชฟ นักมวยปล้ำซูโม่ พิธีกรรายการอาหาร หลังจากการเดินทาง เขาเขียนหนังสือที่บันทึกการเดินทางครั้งนั้นภายใต้ชื่อ Sushi and Beyond หลังออกวางจำหน่าย ผลงานเล่มนั้นได้กลายเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่สนใจในอาหารญี่ปุ่น ฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นได้รับความชื่นชมจากคนภายในประเทศ จนถึงกับมีสารคดีเกี่ยวกับการเดินทางของเขาในรูปแบบการ์ตูน สิบปีให้หลังในปี 2017 เขาเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง แต่ในคราวนี้เขาไม่ได้สนใจในตัวอาหารอีกต่อไป หากแต่พุ่งเป้าไปที่ ‘วัตถุดิบ’ ในการทำอาหารแทน เขาตระเวนไปทุกที่ นับแต่ดินแดนแห่งความอบอุ่นแถบเกาะโอกินาว่าไปจนถึงพื้นที่อันหนาวเหน็บอย่างฮอกไกโดเพื่อค้นหา ‘ต้นกำเนิด’ ของสิ่งที่เรียกว่าวัตถุดิบแบบญี่ปุ่น และหนังสือ The Meaning of Rice หรือความหมายของข้าวคือหนังสือที่บันทึกเรื่องราวเหล่านั้น
แนวคิดเรื่องแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะเจาะจงในการผลิตวัตถุดิบอาหารบางชนิด บางประเภท ปรากฏเนิ่นนานในแนวคิดเรื่องแตร์รัวร์ (Terrior) ของชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ใช้จำแนกแยกแยะดิน หิน แร่ธาตุ และคุณสมบัติของพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทำให้เพาะปลูกองุ่นที่ให้รสชาติแตกต่างกันไปได้ถูกขยายไปสู่พืชพันธุ์และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ภูมิศาสตร์แห่งอาหารที่บ่งบอกถึงจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ได้เสริมสร้างลักษณะเฉพาะของเกษตรและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือลักษณะเฉพาะของรสชาติด้วย
ไมเคิล เริ่มต้นจากการสำรวจมันหวานสีม่วงหรือ Sweet Potatoes หรือ Beni Imo พืชประจำถิ่นจากเกาะโอกินาว่า เขาสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกมันหวานไปจนถึงเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิจัย หลังจากนั้นเขาติดตามหาสาหร่ายไข่มุก หรือ Umi Budo ที่เกาะคุเมะ (Kume Jima) ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตสาหร่ายไข่มุกที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศญี่ปุ่นก่อนจะกลับคืนสู่โอกินาว่าเพื่อไปสนทนากับผู้ผลิตเหล้าต้มประจำถิ่นหรืออะวาโมริ (Awamori) ความน่าสนใจคือเหล้าต้มที่นี่ใช้ข้าวเม็ดยาว หรือ Indica จากประเทศไทยเรานี่เอง โดยข้าวจะถูกขัดก่อนจะนำไปหุงและหมักกับเชื้อโคจิสีดำแต่สิ่งที่พิเศษสุดคือเหล้าต้มของโอกินาว่าหรืออะวาโมริจะนำเอางูพิษประจำเกาะที่เรียกว่าฮาบุ (Habu) ลงแช่ไปด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติ หลังออกจากเกาะโอกินาว่า ไมเคิล มุ่งหน้าไปที่เมืองคาโงชิม่าบนเกาะคิชู เขาออกตามหาแหล่งกำเนิดและเพาะเลี้ยงหมูคูโรบูตะสีดำ (Kurobuta Black Pigs) ซึ่งเป็นหมูที่เลี้ยงกันมากในเมืองนี้
หมูคูโรบูตะสีดำเป็นหมูพันธุ์ผสมระหว่างหมูพื้นถิ่นสีดำกับหมูพันธุ์เบอร์คเชียร์ (Berkshire) ที่ได้รับจากควีนส์วิคตอเรียของอังกฤษในอดีต หมูชนิดนี้นิยมกินกันในพื้นถิ่นในรูปแบบของชาบู-ชาบู ต่อจากนั้นเขาออกแสวงหาที่มาของเหล้าโชชู (Shochu) ในเมืองคิริชิมะ ก่อนจะไปสู่ชายฝั่งอิซูมิเพื่อดูการแปรรูปแผ่นสาหร่ายทะเลหรือโนริ (Nori)
การค้นหาโนรินี่เองทำให้ไมเคิลพบความสัมพันธ์ระหว่างโนริกับนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชาวอังกฤษเมื่อห้าสิบปีก่อน แคธลีน ดรู-เบเกอร์ (Kathleen Mary Drew-Baker) นักวิทยาศาสตร์จากเมืองแมนเชสเตอร์ ผู้ค้นพบวิธีขยายพันธ์ุสาหร่ายทะเลบนเปลือกหอยนางรม การค้นพบนี้จุดประกายให้มีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลอย่างแพร่หลายและช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารญี่ปุ่นในช่วงนั้นเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นโนริหรือสาหร่ายแผ่นได้กลายเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป
การสำรวจของไมเคิลยังกินพื้นที่กว้างไปถึงอิทธิพลของตะวันตกต่ออาหารญี่ปุ่น เขาติดตามการนำเข้าของน้ำตาลจากชาวโปรตุเกสที่ส่งผลต่อการทำขนมหวานในนางาซากิและผลกระทบจากการตั้งกองทัพสหรัฐในเกาะคิวชูที่ทำให้การทานแฮมเบอร์เกอร์ในแถบนี้เป็นที่นิยม หลังจากนั้นเขาเดินทางต่อไปที่เกาะชิโกกุเพื่อสำรวจถึงการปลูกส้มยูซุ (Yuzu) อันเป็นวัตถุดิบสำคัญด้านการปรุงรสของชาวญี่ปุ่นก่อนจะเข้าสู่การตระเวณกินอาหารพื้นที่ในเกาะฮอนชูโดยเฉพาะเขตคันไซซึ่งมีเมืองเกียวโตเป็นศูนย์กลางของอาหารนับแต่อดีตมา
ที่เกียวโต ไมเคิลได้พบกับวิธีการทำปลาส้มแบบโบราณรอบทะเลสาบบิวะ การหมักปลากับเกลือและข้าวที่เรียกว่า นาเระ ซูชิ (Nare Sushi) ได้ถูกพัฒนาเป็นรูปแบบเฉพาะตัวในบริเวณนี้ การใช้ปลาคาร์ปที่มีไข่เต็มท้องซึ่งถูกหมักไว้นานนับปีก่อให้เกิดรสชาติที่แตกต่างจากปลาส้มในถิ่นอื่น ฟูนะ ซูชิ (Funa Sushi) หรือปลาส้มจากทะเลสาบบิวะ (ที่มีชื่อเฉพาะว่า นิโกโระ บูนะ) เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อ ไมเคิลได้พบกับตระกูลเก่าแก่ที่ทำฟูนะซูชิ มาไม่ต่ำกว่าสามร้อยปี
จากคันไซ ไมเคิลเดินทางต่อเข้าสู่เขตคันโต เขาสืบหาวัฒนธรรมการกินราเมงที่เริ่มต้นจากเมืองท่าโยโกฮาม่าซึ่งรับการกินเส้นบะหมี่เช่นนี้มาจากจีน เขาเข้าร่วมพิธีชงชา ตั้งคำถามถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมชาเขียว เข้าชมการทำเส้นโซบะด้วยมือของ ฮิบิยะ ซัง ชายผู้ได้ชื่อว่าหลงใหลในโซบะ ก่อนจะสำรวจผลกระทบของซูชิและความนิยมกินซูชิอันเนื่องมาจากหนังสือของเขา
ไมเคิลเดินทางต่อไปที่ฟูกูชิม่า (Fukushima) ที่นั่นเขาได้พบกับ ฟูรูกาวะ ซัง บุคคลที่สามารถทำให้ผลิตผลจากข้าวในไร่ของเขาขึ้นเป็นข้าวอันดับหนึ่งของประเทศได้ติดต่อกัน เขายังสำรวจถึงผลกระทบจากมหันตภัยนิวเคลียร์ที่มีผลต่อกระบวนการด้านห่วงโซ่อาหาร ก่อนจะโบกมือลาเกาะฮอนชูไปยังเกาะฮอกไกโดสำรวจอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยเม่น การปลูกเมล่อนและการทำวิสกี้ซึ่งมีที่มาจากชายหนุ่มชื่อ มาซาตากะ ทาเกตซึรุ ผู้เดินทางยังสก๊อตแลนด์ในศตวรรษที่ผ่านมาก่อนที่เขาจะสร้างโรงบ่มวิสกี้อันโด่งดังชื่อ นิกกะ (Nikka) ขึ้นที่จังหวัดโยอิจิในฮอกไกโด เขาจบการเดินทางด้วยการออกตามหาหมีป่าในฮอกไกโดและค้นพบความจริงของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนของชาวญี่ปุ่น
รูปแบบการเขียนของ ไมเคิล บู๊ท ใน The Meaning of Rice มีลักษณะของการบันทึกการเดินทางคล้ายคลึงกับนวนิยายเรื่อง On the Road นวนิยายการผจญภัยบนท้องถนนอันโด่งดังของแจ๊ค โครูแวค (Jack Korouac) เพียงแต่ว่าสิ่งที่เขาพบไม่ใช่ความลำบากและโกรธเกรี้ยวจากผู้คนรอบๆ ดังที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนั้น หากแต่เป็นความเอื้ออาทร ความกระหายใคร่รู้ที่จะแบ่งปันองค์ความรู้ด้านอาหารให้แก่คนแปลกหน้า หนังสือ The Meaning of Rice จึงเหมาะเป็นหนังสือสำหรับที่คนสนใจในการผจญภัยหรือแสวงหาในที่มาของแหล่งอาหาร มันเป็นหนังสือที่ทำให้เราได้ตระหนักอยู่ตลอดเวลาการอ่านว่าบนจานอาหารที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่นั้นมีเส้นทางการเดินทางที่ยาวไกลเพียงใด
Michael Booth, The Meaning of Rice (London: Vintage, 2017)
Format Paperback | 368 pages
Dimensions 129 x 198 x 22mm | 255g