ฟังอาหารในดนตรี (2)
เมื่องานครัวกลายเป็นงานดนตรี
เครื่องดนตรีจากเครื่องครัว
ทุกวันนี้ การนำเครื่องครัวมาเล่นดนตรีนั้นเราเห็นกันเป็นเรื่องปรกติ ตามคลาสเรียนดนตรีเด็กหรือตามคลิปออนไลน์ต่าง ๆ เราเห็นการนำเครื่องครัว (รวมไปถึงอุปกรณ์งานบ้านงานเรือนอื่น ๆ) มาสร้างจังหวะดั่งการตีเกราะเคาะไม้แบบโบราณ
ซึ่งเมื่อพูดถึงการตีเกราะเคาะไม้ ก็เป็นไปได้สูงทีเดียวว่าตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้นเท่าอายุกำเนิดดนตรีโดยฝีมือมนุษย์ การนำ อุปกรณ์ทำอาหารในยุคบรรพกาลมาเคาะ ๆ ตี ๆ ให้เกิดเสียงเป็นดนตรีคงต้องมีอยู่เป็นแน่ อย่างน้อยที่สุด อุปกรณ์การกินที่กลายร่างมาเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้กันแพร่หลายในหลายวัฒนธรรมก็คือ “Spoons” หรือช้อนคู่ประกบ ดังที่จะเห็นได้ทั่วไปในดนตรีพื้นบ้านไอร์แลนด์ หรือ เครื่องดนตรี โคทาลาเกีย (κουταλάκια/koutalakia) ของกรีก, ลอชกี (Ло́жки/lozhki) ของรัสเซีย, คาชิกลาร์ (kaşıklar) ของตุรกี ไล่ไปจนถึงที่เห็นได้บ้างในดนตรีอเมริกันอย่างวงประเภท Jug Band ยุคเริ่มแรก
ส่วนทางฝั่งเครื่องจำพวกภาชนะนั้น นอกจาก “เหยือก” (หรือ “Jug” ที่เป็นทรงคล้ายขวดโหล มีหู และปากทรงท่อ เล่นด้วยการบีบริมฝีปากแล้วเป่าลมลงไป) ของวง Jug Band ที่กล่าวถึงไปข้างต้นแล้ว ก็มีตัวอย่างอีกเช่น “พิณแก้ว” (Glass Harp) ที่เป็นการนำเอาแก้วจำพวกแก้วไวน์หลายทรงหลายขนาด มาเติมน้ำเข้าไปในระดับต่าง ๆ กัน ซึ่งก็ทำให้เมื่อบรรเลงแล้วเกิดระดับเสียงต่าง ๆ กันได้ด้วย มีบันทึกพบเครื่องดนตรีทำด้วยแก้วน้ำยุคแรก ๆ ในเปอร์เซียตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 14 ซึ่งต่อมาในปี 1741 นายริชาร์ด พอคคริช (Richard Pockrich, 1695-1759) ชาวไอร์แลนด์ ได้ประดิษฐ์พิณแก้วขึ้นมา โดยในสมัยแรกบรรเลงโดยการใช้ไม้เคาะ ต่อมามีการบรรเลงโดยการให้ผู้เล่นนำนิ้วตัวเองไปชุบน้ำให้เปียกแล้วถูขอบแก้วจนมีเสียงโน้ตออกมา เมื่อมีแก้วหลายใบ ผู้เล่นจึงสามารถสร้างทำนองและเสียงประสานได้
จนเมื่อมาถึงโลกสมัยใหม่ การเกิดขึ้นของเครื่องดนตรีอย่าง “สตีลแพน” (Steelpan) จากประเทศตรินิแดดและโตเบโก น่าจะเรียกได้ว่าเป็นวิวัฒนาการอันสำคัญของการนำสรรพสิ่งมาเคาะ สตีลแพนนี้มีจุดเริ่มต้นจากดนตรีของอดีตทาสอาฟริกันในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่ใช้ท่อไม้ไผ่มาเป็นเครื่องเคาะเรียกว่า Tamboo Bamboo (ซึ่งนำมาแทนที่กลองอาฟริกันที่ถูกแบนโดยเจ้าอาณานิคม) แล้วภายหลังเริ่มมีการนำกระป๋อง ถังขยะ กระทะ ขวดเหล้า เครื่องขูดผักผลไม้ (grater) และขยะโลหะต่าง ๆ มาร่วมใช้ในการเล่นดนตรี จนต่อมานำมาซึ่งการประดิษฐ์ สตีลแพน ที่ใช้วัสดุจำพวกถังโลหะขนาดใหญ่มาทุบจนเกิดหลุมขนาดต่าง ๆ บนผิวหน้า ซึ่งเมื่อตีลงไปแล้วเกิดเป็นระดับเสียงต่าง ๆ สามารถเล่นเป็นทำนองและเสียงประสานได้ (ปัจจุบัน ถือกันว่า สตีลแพน เป็นเครื่องดนตรีประจำชาติของตรินิแดดและโตเบโก ซึ่งมีจุดกำเนิดและบทบาทสำคัญในช่วงต่อต้านเจ้าอาณานิคม)
ในสมัยศตวรรษที่ 20 จินตนาการและเทคโนโลยี ก็ทำให้เรานำเอาตัวเครื่องครัวและเสียงอันเกิดจากเครื่องครัว (เลยเถิดไปถึงสิ่งอื่นในครัว เช่น เครื่องปรุง) มาเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีและการแสดงดนตรี ทั้งการแสดงดนตรีในความหมายตรงและการแสดงดนตรีที่ก้าวข้ามพ้นขอบเขตนิยามแบบดั้งเดิม ดังเช่นตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
เสียงเพลงจากเครื่องปรุงและวัตถุดิบ
เครื่องครัวทำให้เกิดเสียงได้ ซึ่งเมื่อนำเสียงมาเรียงและควบคุมแล้วก็เกิดเป็นดนตรีได้ ส่วนวัตถุดิบทำอาหารนั้น ถ้าเป็นของแข็งที่นำมาทุบ ๆ เคาะ ๆ ได้ ทำไมเล่าจะเอามาสร้างดนตรีไม่ได้ ยิ่งถ้านำมาเจาะรูแล้วเป่ามีเสียงได้ ยิ่งทำเป็นเครื่องดนตรีได้อย่างจริงจัง
การนำวัสดุมาเจาะรูแล้วเป่ามีเสียงนี้พบได้ในเครื่องดนตรีที่มีประวัติเก่าแก่ยาวนานอย่าง โอคารินา (ocarina) ที่ถูกพบในหลากหลายรูปแบบ มีทั้งที่ทำจากเซรามิกไปจนถึงกระดูกสัตว์ เป็นเครื่องดนตรีที่ถูกพบในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและเมโสอเมริกา มีการพบโอคารินาที่ทำมาจากไข่นก (ว่ากันว่าเป็นงานประดิษฐ์ของ Zhu Caiyu, 1536-1611) นอกจากนี้ก็ยังมีโอคารินาในอาฟริกาที่ทำมาจากเปลือกมะพร้าวด้วย ซึ่งการนำเปลือกแข็งมาเจาะรูนี้เราก็ยังพบในนกหวีด (whistle) ในเปรูที่ทำจากเปลือกถั่ว
การนำเอาพืชผักมาทำเป็นเครื่องดนตรีจนสามารถเล่นบทเพลงได้จริงจังน่าจะเรียกได้ว่าพัฒนาถึงขีดสุดในมือของวง Vienna Vegetable Orchestra (ก่อตั้งปี 1998) ซึ่งนอกจากจะนำพืชผักมา “ทำ” เครื่องดนตรี เช่นเจาะแครอตทำเป็นขลุ่ยแล้ว ก็ยังเอาผักมา “ใช้” ทำเสียงดนตรีด้วย เช่นเอาใบผักมาถูกัน เป็นต้น วิธีการบรรเลงดนตรีของวงดนตรีวงนี้มีหลากหลายมาก ตั้งแต่บรรเลงเพลงปกติไปจนถึงการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม
ส่วนในโลกของดนตรีทดลอง (Experimental Music) เดวิด ทิวดอร์ (David Tudor, 1926-1996) ผู้นอกจากจะเป็นนักดนตรีแนวทดลองและนักเปียโนแล้ว ก็ยังเป็นนักกินและชอบสะสมเครื่องเทศด้วย เขาเคย “prepare” (การดัดแปลงเสียงเปียโนด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ นำวัตถุมาวางบนสายเปียโน) เปียโนด้วยเครื่องเทศอาทิ เมล็ดมัสตาร์ด กระเทียม อบเชย
ซึ่งเมื่อพูดถึงการกระทำอาการแปลก ๆ ใส่เปียโนด้วยเครื่องปรุงนี้ ก็อดพูดถึงงานอีกชิ้นไม่ได้ ซึ่งก็คือ Incidental Music (1961) ของ จอร์จ เบรคท์ (George Brecht, 1926-2008) ที่หนึ่งในขั้นตอนการบรรเลงคือ ปล่อยถั่วแห้งสามเมล็ดทีละเมล็ดลงบนแป้นคีย์บอร์ดเปียโน แล้วทำเอาเทปกาวมาติดเมล็ดเข้ากับแป้น ส่วนจะเกิดเสียงใด ๆ หรือไม่ นั้นปล่อยไปตามใจของลมฟ้าเทวดาล้วน ๆ
เสียงเครื่องครัวในโลกดนตรีไฟฟ้า
ในการนำเสียงต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เสียงดนตรีมาสร้างเป็นเพลงนั้น ในศตวรรษที่ 20 เมื่อเทคโนโลยีพัฒนา เสียงเหล่านั้นก็ถูกจัดการในรูปแบบใหม่ ในช่วงทศวรรษ 1940 ปิแอร์ เชเฟอร์ (Pierre Schaeffer, 1910-95) นักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศสได้สร้างดนตรีรูปแบบใหม่ เรียกว่า “มูซีค คองแครต” (Musique concrète) ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงอะไรก็ได้ (อาทิ ในงานชิ้นแรกของเขาคือเสียงรถไฟและเสียงแวดล้อม) แล้วนำมาหั่น ตัด ปะ ในลักษณะคล้ายการทำงานคอลลาจ จนกลายมาเป็นประหนึ่งบทประพันธ์ดนตรี ซึ่งการจัดการกับ “เสียงอะไรก็ได้” ในแบบที่ว่านี้ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่คล้องจองกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางดนตรีแบบที่ ลุยจี รุ สโซโล ได้เบิกทางไว้ (อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการอนาคตนิยมได้ในบทความตอนที่แล้ว) ซึ่งแน่นอนว่า เสียงเครื่องครัวหรือเสียงทำครัวนี้ก็กลายมาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำหรับการสร้างบทเพลง
การใช้เสียงอะไรก็ได้นี้เรียกได้ว่ากลายมาเป็นรากฐานอันใหม่ให้กับนักแต่งเพลงสมัยใหม่ที่สลัดตัวเองออกจากกรอบเดิมของดนตรีที่มีเพียงตัวโน้ตโดเรมีไปได้ ยิ่งพัฒนาการของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (ดนตรีที่อาศัยเสียงจากคอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรีไฟฟ้า และเทคโนโลยีเสียงต่าง ๆ) มีมากขึ้น การจัดการหรือสร้างเสียงก็สามารถเกิดขึ้นได้แทบจะตามจินตนาการของศิลปิน
ในงานของ ชต็อคเฮาเซน (Karlheinz Stockhausen, 1928-2007) คือ Mikrophonie I (1964) นั้นเป็นการนำสารพัดของจากในครัวและในบ้านมาใช้เป็นอุปกรณ์กระทบกระแทกเบียดถูกับเครื่องดนตรี แทมแทม (Tamtam) โดยมีไมโครโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการจัดการกับเสียง
ตัวอย่างของงานอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เสียงเครื่องครัวมาตัดต่อนั้นก็มีเช่น เพลง Table’s Clear (1990) ของ พอล แลนสกี (Paul Lansky, b.1944) ที่อัดเสียงเสียงอุปกรณ์ต่าง ๆ จากในครัว แล้วนำมาผ่านกระบวนและตัดต่อเป็นเพลง
ส่วนใน Cats in the Kitchen (2007) ของ ฟิลลิป บิมสไตน์ (Phillip Bimstein, b.1947) นั้นเป็นเพลงประพันธ์ขึ้นบรรเลงโดย ฟลุต โอโบ และเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นเสียงแมว เสียงเคี้ยวอาหาร และเสียงทำครัวต่าง ๆ อาทิ เสียงตอกไข่ หั่นหัวหอม กระทะร้อน เครื่องบดพริกไทย และสารพัดสรรพสิ่งในครัว
การแสดงแห่งการครัว
ดังที่กล่าวมาข้างต้นถึงการสร้างเสียงดนตรีด้วยเครื่องครัว หรือการแปลงเครื่องครัวและวัตถุดิบเป็นเครื่องดนตรี ซึ่งเมื่อนำมาผสมกับอากัปอาการของการทำอาหารที่ต้องแฝงจังหวะจะโคนดั่งการรำที่ร่ายไปตามจังหวะของไฟ ของไอร้อนของโมเลกุลอาหารที่กระทบกระแทกกัน จังหวะในแบบที่เมื่อเสริมใส่ลีลาเพิ่มเติมลงไปแล้วก็อาจมีความงามในเชิงสุนทรียะแก่ผู้พบเห็นนั้น การทำอาหารก็กลายร่างเป็นศิลปะการแสดง (performance art) ที่หลอมรวมทั้งภาพและเสียงไปได้นั่นเอง
ตัวอย่างงาน performance art ในแบบขนบนิยม ที่หลอมรวมการระบำ ดนตรีและครัวเข้าด้วยกัน ได้แก่ บัลเล่ต์ La Revue de Cuisine (1927) ที่ประพันธ์ดนตรีโดยคีตกวีเพลงคลาสสิกชาวเชค โบฮุสลาฟ มาร์ตินู (Bohuslav Martinů, 1890-1959) ซึ่งเนื้อเรื่องเป็นเรื่องอลวนอลหม่านของบรรดาตัวละครทั้งหลายที่เป็นเครื่องครัว ตัวแสดงมีทั้ง หม้อ ผ้าเช็ดโต๊ะ ไม้กวาด ฝาหม้อ ไม้กวาด และผสมสำเนียงดนตรีแจ๊ซ (ซึ่งเป็นเทรนด์ที่นักแต่งเพลงคลาสสิกหลายคนเริ่มให้ความสนใจในช่วงทศวรรษ 1920) และดนตรีเต้นรำที่เป็นที่นิยมอย่างแทงโก้และชาร์ลสตัน
[ทั้งนี้ การใช้ตัวแสดงเป็นเครื่องครัวนี้อาจทำให้หลายๆ คน (รวมทั้งตัวผู้เขียนเอง) นึกถึงส่วนสำคัญในเนื้อเรื่องภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Beauty and the Beast ที่ซึ่งในปราสาทของเจ้าชายอสูรนั้น นางเอก เบลล์ (Belle) ได้พบว่าเครื่องครัวเครื่องใช้ในปราสาทนั้นมีชีวิต ซึ่งอันที่จริงตัวละครเครื่องครัวแบบนี้เราสามารถมองหาจุดเริ่มต้นที่เก่ากว่านั้นได้ในงานแสดงละครใบ้ (pantomime) ของ โจเซฟ กริมัลดี (Josseph Grimaldi, 1778-1837)]การแสดงที่ผสมละครใบ้ การเต้นรำ และการนำเอาเครื่องครัวมาใช้สร้างเพลงได้จริง ๆ นั้นมีปรากฏในโชว์รายการหนึ่งของประเทศเกาหลีที่โด่งดังไปทั่วโลก ชื่อนันทา (난타) ซึ่งในบางส่วนของการแสดง ผู้แสดงหลักสี่คนใช้อุปกรณ์ครัวมาตีเป็นจังหวะ ซึ่งเป็นลักษณะการบรรเลงกลองแบบที่เลียนสำเนียงดนตรีพื้นบ้านเกาหลีที่เรียกว่า ซามุลโนรี (사물놀이) รวมไปถึงการแสดงละครใบ้ การแสดงกึ่งกายกรรม และการแสดงอื่น ๆ ที่เป็นการทำอาหารอย่างมีจังหวะจะโคนจนประหนึ่งกลายเป็นเสียงดนตรี
ส่วนทางฝั่งฝรั่ง การนำเอาสารพัดสิ่งมาเคาะจังหวะผสมกับการแสดงลีลา ละครใบ้ กายกรรม และการเต้นรำ มาผสมกันอย่างจริงจังได้แก่งานของวง STOMP จากประเทศอังกฤษ ซึ่งวิดีโอชุด Stomp Out Loud (1997) นั้น มีฉากในครัวที่แสดงถึงการเคาะตีเครื่องครัว และการทำงานในครัวอื่น ๆ ตั้งแต่การทำอาหารไปจนถึงการทำความสะอาดที่รวมออกมาแล้วกลายเป็นเพลง
ส่วนการแสดงที่เลยไกลไปกว่าการสร้างเสียงดนตรีหรือลีลาร่างกายใด ๆ แต่ยังคงเกี่ยวข้องกับอาหารนั้น สามารถพบเห็นได้ในงานของกลุ่มศิลปินฟลักซัส (Fluxus) ที่ทำงานแสดงสาย “ทดลอง” (experimental) และให้ความสนใจกับตัว “กระบวนการ” สร้างงาน (อันที่จริง จอร์จ เบรคท์ ที่ได้กล่าวถึงไปเมื่อข้างต้นแล้วก็เป็นศิลปินฟลักซัสเช่นกัน)
งานของฟลักซัสนั้นพร่าเลือนอยู่ท่ามกลางเส้นแบ่งของนิยามงานศิลปะ ผสมผสานงานโสตศิลป์ ทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ ศิลปะเชิงแนวคิด และสื่อหลากรูป รวม ๆ กัน กลายเป็นงานที่แม้จะมีการกำหนดเงื่อนไขและวิธีการแสดงต่าง ๆ เช่นที่เราเห็นในสกอร์เพลง แต่ตัวการแสดงนั้น ไม่ได้เน้นที่การจัดการหรือควบคุมเสียงตามขนบเดิมต่อไป
ในงานของ อลิสัน โนว์ลส์ อย่าง Make a Salad (1962) นั้น คือการนำผักจำนวนมากมาหั่น และให้ผู้ “ทำ” สลัด ขึ้นไปยืนบนระเบียงชั้นบน มีผ้าผืนใหญ่รองลงอยู่ที่ชั้นล่าง แล้วคนชั้นบนจะเทบรรดาผักที่หั้นแล้วลงมา ตามด้วยน้ำสลัด เป็นการทำสลัดจานยักษ์ จากนั้นจึงแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมชมได้ชิม
ซึ่งบางงานของ อลิสัน นั้นก็พร่าเลือนจนถึงจุดที่เราไม่สามารถแยกได้อีกต่อไปว่าเป็น “งานแสดง” หรือไม่ อย่างเช่นในงาน Identical Lunch (1969) ซึ่งบันทึกขั้นตอน “การแสดง” (หรือ “การกระทำ”) ของงานนี้มีอยู่ว่า “กินแซนด์วิชทูน่าที่ใช้ขนมปังโฮลวีตปิ้ง ใส่ผักกาด เนย ไม่มีมายองเนส เสิร์ฟคู่กับซุปบัตเตอร์มิลค์ กินอย่างนี้หลายวันในแต่ละสัปดาห์ กินที่เดิมเวลาเดิม” (เรื่องราวที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ใน Journal of Identical Lunch, 1970)
ซึ่งในช่วงเวลาไล่เลี่ย Identical Lunch นักแต่งเพลง อัลวิน เคอรัน (Alvin Curran, b.1938) ได้สร้างงานแนวทดลองชื่อ Last Thoughts on Soup (1969) โดยในคำอธิบาย “การแสดง” นั้นอธิบายว่า ซุปก็คือการใส่สรรพสิ่งลงไป (คล้ายว่าก็คือจับฉ่ายนั่นเอง) แล้วเปรียบห้องใหญ่หนึ่งห้องว่าเป็นประหนึ่งหม้อซุป ให้มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องดนตรี และสิ่งของต่าง ๆ (ตั้งแต่เครื่องเคาะตี และสิ่งละอันพันละน้อยตั้งแต่นกหวีดตำรวจไปจนถึงเสาโทรทัศน์!) แล้วก็ให้นักดนตรีและคนดูเข้ามาอยู่ในห้อง เมื่อเวลาผ่านไป ให้คนดูค่อย ๆ เข้ามาผสมกับผู้เล่นและของต่าง ๆ จนทุกสิ่งเคี่ยวรวมกันสักสองสามชั่วโมงจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เราเห็นได้ว่าภายใต้ฝีไม้ลายมือและจินตนาการของมนุษย์ เครื่องครัว อาหาร และการกิน นั้นได้ถูกพาข้ามพ้นโลกแห่งรสชาติและความอิ่มท้องไปแล้ว จนกลายเป็นดนตรี ศิลปะ และการแสดงที่ตั้งอยู่บนพรมแดนอันพร่าเลือนของนิยามต่าง ๆ และเป็นที่น่าสนใจว่าในอนาคตต่อไปอีกยาวนาน มันจะกลายเป็นอะไรได้อีกบ้าง
อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม
Tina Frühaus, Food and Music (ใน Music in American Life: An Encyclopedia of the Songs, Styles, Stars, and Stories That Shaped Our Culture)
Jason James Hansley: Metal Machine Music: Technology, Noise, and Modernism in Industrial Music 1975-1996 (วิทยานิพนธ์)
Douglas Kahn, The Latest: Fluxus and Music (ใน Sound, ed. Caleb Kelly)
Alison Knowles, Journal of the Identical Lunch
Bohuslav Martinů (ed. Christopher Hogwood), La Revue de Cuisine: Ballet our six instruments (สกอร์เพลง)
https://www.musicradar.com/news/everything-you-need-to-know-about-musique-concrete
https://www.bbc.com/news/magazine-18903131
https://acousticmusic.org/research/history/musical-styles-and-venues-in-america/jug-bands/
http://www.tinytappingtoes.com/family-fun-2/playing-the-spoons-as-an-instrument-in-russia/
http://www.antiquealive.com/Blogs/Samulnori_Korean_Percussion_Quartet_Music.html
http://paul.mycpanel.princeton.edu/liner_notes/homebrew.html