ดื่มด่ำกับความรู้
ก่อนคำว่า ซิมโพเซียม (Symposium) ที่จะถูกใช้ในความหมายของการประชุมสัมมนา หรือการอภิปรายทางวิชาการเช่นในปัจจุบันนั้น มันเคยหมายถึง ‘การประชุมดื่ม’ อันมีต้นกำเนิดมาจากอารยธรรมกรีกเมื่อราว 700 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเรียกกันว่า συμπόσιον หรือ symposion/symposio ที่มาจากคำว่า συμπίνειν หรือ sympinein ที่แปลว่า “ดื่มร่วมกัน”
Symposium หรือ ‘การประชุมดื่ม’ นั้นถูกจำกัดไว้ก็แต่ ‘ผู้ชาย’ โดยผู้หญิงที่จะเข้าร่วมได้คงมีแต่ hetairai หรือโสเภณีชั้นสูงที่มีความสามารถในการแสดง เต้นรำ และเล่นดนตรี (โดยเฉพาะขลุ่ย Aulos) เท่านั้น ซึ่ง ‘ผู้ชาย’ เกือบทั้งหมดนั้นจัดอยู่ในชนชั้นนำ (aristoi) ซึ่งนิยมใช้การประชุมดื่มเป็นพื้นที่พูดคุยเรื่องการเมือง และสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน อย่างไรก็ตาม การประชุมดื่มนี้ก็เป็นพื้นที่ที่เปิดไว้สำหรับการแลกเปลี่ยนและสร้างบทสนทนาเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม และโดยเฉพาะปรัชญาดังที่เห็นได้จากบทสนทนาเรื่อง Symposium ของเพลโต (Plato) นักปรัชญาชาวกรีกผู้มีชีวิตในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล
Symposium ถือเป็นบทสนทนาที่สามารถบอกเล่า หรือให้รายละเอียดของการประชุมดื่มได้ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง โดยตัวเรื่องราวบอกเล่าถึงเหตุการณ์ (ในอดีต) ที่มีผู้คนมากมายไปที่บ้านของอากาธอน (Agathon) เพื่อเฉลิมฉลองภายหลังจากละครของอกาธอนได้รับรางวัลชนะเลิศจากเทศกาล Dionysia เป็นหนแรก แต่ภายหลังจากการกินดื่มอย่างหนักหน่วงในคืนก่อน จึงได้แขกในงานเสนอว่า การประชุมดื่มในคืนต่อมา ควรจะเป็นไปในแบบพอประมาณ หรือเป็นการดื่มด่ำทางปัญญา (โดยร่ำสุราอย่างเหมาะสม) และจากเงื่อนไขนี้เองได้กลายเป็นที่มาของการแสดงปาฐกถาเรื่องความรัก หรือการถกอภิปรายว่า แท้จริงแล้วความรักคืออะไรกันแน่
โดยหนึ่งในทฤษฎีความรักที่เรียกกันว่าความรักแบบเพลโต (Platonic Love) ซึ่ง ณ ปัจจุบันใช้หมายถึงความรักเชิงมิตรภาพ ปราศจากเรื่องเพศ (Sexuality) ก็อยู่ในบทสนทนานี้ชิ้นนี้ของเพลโต หรือแม้แต่นิทานที่เล่าถึงมนุษย์ยุคแรกซึ่งมีทั้งเพศชายหญิงในร่างเดียวและมีพลังอำนาจมากเสียจนซุส (Zeus) ใช้สายฟ้าแบ่งร่างออกจากกัน จนกลายเป็นกำเนิดของมนุษย์เพศชายและหญิงที่ต่างโหยหากันและกัน ซึ่งเล่าโดยอริสโตฟานีส (Aristophanes) นักเขียนบทละครสุขนาฏกรรมชาวกรีกคนสำคัญก็ปรากฏในบทตอนหนึ่งของ Symposium ด้วยเช่นกัน
ตัวละครสำคัญที่เปรียบเหมือนตัวเอกในเรื่องก็คือโสเครติส (Socrates) ผู้เป็นอาจารย์ของเพลโตนั่นเอง โสเครติสในการประชุมดื่มนี้ได้ตั้งคำถามถึงนิยามความรักแบบต่างๆ ซึ่งในมุมมองของปิแยร์ อาโดต์ (Pierre Hadot) นักปรัชญาและผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กรีก-โรมันชาวฝรั่งเศส ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของบทสนทนาชิ้นนี้ในฐานะที่เป็นหมุดหมายแรกของการวางแนวคิดเรื่องปรัชญาในความหมายของ “ความรักในปัญญา/ความรู้” โดยบทสนทนาระหว่างโสเครติสกับไดโอทิมา (Diotima) อาจารย์หญิงของเขานั่นเองที่ได้ลากเส้นแบ่งความเป็นปรัชญาและความเป็นนักปรัชญาให้ชัดเจนขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยไดโอทิมามองว่านักปรัชญานั้นแตกต่างจากเทพ (god) หรือผู้รู้ (sage หรือ sophos ) ตรงที่ยังคงต้องการแสวงหาความรู้ ในขณะที่เทพหรือผู้รู้นั้นไม่ต้องการอีกแล้ว ผู้ที่ไม่ต้องการปัญญาจึงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ ผู้ที่มีปัญญาอยู่แล้วเช่น (เทพ หรือผู้รู้) และคนเขลาผู้ไม่สนใจจะรู้ ส่วนนักปรัชญาเป็นผู้ขาดในความรู้ และต้องการแสวงหาความรู้เรื่อยไป ภาพของนักปรัชญานั้นจึงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ Eros หรือ ‘ความรัก’ คือเป็นสิ่งที่ ‘อยู่ระหว่าง’ หรือไม่เป็นทั้งเทพหรือมนุษย์
นอกจากข้อถกเถียงและวิวาทะเกี่ยวกับความรักและปรัชญาแล้ว บทสนทนานี้ยังแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบหลายอย่างในการประชุมดื่มที่เรียกได้ว่ามีความแปลก เช่น แขกเหรื่อที่มาจะถูกเชิญไปนั่งบนม้ายาว ซึ่งจัดทำไว้สำหรับท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน (คล้ายกับโซฟาเบดที่เรารู้จักในปัจจุบัน) และผู้ที่มางานก็จะนั่งหรือนอนอยู่ในลักษณาการดังกล่าวแทบตลอดการประชุมดื่ม โดยจะมีนักดนตรีคอยบรรเลงเพลงขับกล่อม ทาสรับใช้คอยบริการอาหาร และเสิร์ฟไวน์ ซึ่งการดื่มไวน์ของชาวกรีก ณ เวลานั้นนับว่ามีความแปลกพิสดาร และแตกต่างจากไวน์ที่เรารู้จักในปัจจุบัน ตรงที่ต้องนำมาผสมกับน้ำในภาชนะรูปทรงคล้ายเหยือกที่มีหูสองข้างที่เรียกว่า เครเตอร์ (Krater) เสียก่อนจึงจะนำไปเสิร์ฟได้
เหตุผลของการดื่มไวน์ผสมน้ำถูกมองว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมมากกว่าความแรงของไวน์ ที่กระบวนการหมักจะมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงสุดเพียง 18% (เพราะหากเลยไปแล้วยีสต์ หรือจุลินทรีย์ที่อยู่ในไวน์ก็จะตาย หรือไม่สามารถมีชีวิตได้) ดังนั้นการดื่มไวน์ผสมน้ำของชาวกรีกรวมถึงโรมันน่าจะเป็นเหตุผลทางด้านรสชาติ หรือทำให้สามารถดื่มได้ง่ายขึ้น
สูตรการผสมไวน์กับน้ำมีตั้งแต่อัตราส่วน 1:20 (ไวน์ 1 ส่วน น้ำ 20 ส่วน) เช่นใน Odyssey ของโฮเมอร์จนไปถึง 1:1 ซึ่งถือว่าเข้มข้นที่สุด ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งของยูบูลัส (Eubulus) นักประพันธ์บทละครผู้มีชีวิตในช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาล ได้กล่าวถึงธรรมเนียมการดื่มไวน์ที่เหมาะควรและไม่เหมาะควรเอาไว้ว่า
“สำหรับผู้ที่ยังมีสติดีอยู่ ข้าจะตระเตรียมไวน์ไว้ให้เขา 3 เหยือก: เหยือกที่ 1 เพื่อสุขภาพ (ที่พวกเขาต้องดื่มก่อน) เหยือกที่ 2 เพื่อความรักและความสุขใจ และเหยือกที่ 3 สำหรับการหลับไหล เมื่อเหยือกนี้หมดลง คนฉลาดจะกลับบ้าน ส่วนเหยือกที่ 4 นั้นไม่ใช่สำหรับข้าอีกแล้ว แต่เป็นสำหรับพฤติการณ์เลวร้าย เหยือกที่ 5 สำหรับการขู่ตะคอก เหยือกที่ 6 สำหรับคำหยาบคายและดูถูกเหยียดหยาม เหยือกที่ 7 สำหรับการทะเลาะวิวาท เหยือกที่ 8 สำหรับการทำลายเครื่องเรือน เหยือกที่ 9 สำหรับความสลดหดหู่ เหยือกที่ 10 สำหรับความบ้าและเสียสติ”
ในบทสนทนา Symposium ของเพลโตเองก็เน้นย้ำถึงการดื่มอย่างเหมาะสม และได้แสดงให้เห็นธรรมเนียมการดื่มไวน์จากจอกเดียวกัน โดยส่งวนไปทางขวามือ ในตอนท้ายเรื่อง ที่เหลือก็แต่เพียงโสเครติส อริสโตฟานีส และอกาธอนซึ่งยังคงดื่มไปจนถึงรุ่งเช้า
บทสนทนา Symposium จบลงด้วยการที่ผู้ประชุมดื่มทั้งหมดนอนหลับไป ยกเว้นก็เพียงโสเครติสเท่านั้นที่การดื่มด่ำทั้งสุราและการใช้ปัญญาไม่ได้ทำให้เขาอ่อนล้าสิ้นสภาพไป เขายังคงเดินกลับบ้านด้วยก้าวย่างที่มั่นคงเหมือนเช่นที่เขามา
อ้างอิง
-Pierre Hadot, What Is Ancient Philosophy?, translated by Michael Chase (London: Belknap Press, 2004).
–Wine & Philosophy: A Symposium on Thinking and Drinking, edited by Fritz Allhoff (Oxford: Blackwell Publishing, 2008)