Solo Dining: อร่อยอย่างเดียวดาย

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้เขียนแทบไม่เคยกินอาหารคนเดียว ไม่ว่าจะในมื้อเช้า กลางวัน หรือเย็นที่เป็นเวลาสงวนสำหรับคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และมิตรสหาย จวบจนไม่กี่ปีมานี้ที่ภาระหน้าที่และวิถีชีวิตที่แปลงเปลี่ยนไปทำให้ต้องเริ่มรับประทานอาหารคนเดียวบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร การออกไปนั่งตามร้านรวงต่างๆ รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นความเคยชินของตนเองไปแล้ว และจากนั้นผู้เขียนจึงได้เริ่มสังเกตว่า คนที่นั่งรับประทานอาหารคนเดียวมีมากขึ้น และอาจมากกว่าที่มาเป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มเสียด้วยซ้ำไป

ผู้เขียนจึงได้เริ่มต้นสืบค้นข้อมูล และตามอ่านผลงานที่กล่าวถึงพฤติกรรมการกินคนเดียว (Solo Dining) ซึ่งพบว่ามีข้อเขียนรอบๆ ราวๆ ประเด็นนี้อยู่ไม่น้อยเลยโดยงานวิจัยจำนวนมากได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นของพฤติกรรมการกินอาหารคนเดียว

เช่นนับจากปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา ในสหราชอาณาจักรยอดของการจองที่นั่งสำหรับรับประทานคนเดียวเพิ่มขึ้น 160% และผลสำรวจ Living Well Index ซึ่งจัดทำโดยซูเปอร์มาร์เก็ต The Sainsbury ร่วมกับ Oxford Economics ระบุว่า 1 ใน 3 ของประชากรผู้ใหญ่ชาวอังกฤษต้องรับประทานอาหารคนเดียวแทบตลอดเวลา ส่งผลให้ร้านอาหารจำนวนมากต้องปรับปรุงพื้นที่ในการรับประทานอาหาร และ Tesco ได้ลดขนาดอาหารสำเร็จรูปหลายชนิดลงลงให้เหมาะกับการบริโภคคนเดียว ภาวะการณ์ในสหราชอาณาจักรสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของลูกค้าทั้งในแบบที่ใช้บริการร้านอาหารทั้งในแบบที่เป็นคู่และกลุ่มว่ามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในออสเตรเลีย The Fork (หรือในชื่อเดิม Dimmi) เว็บไซต์และแอพลิเคชั่นจองร้านอาหารออนไลน์มียอดการจองโต๊ะสำหรับคนเดียวเพิ่มขึ้น 27% ระหว่างปี 2017 และ 2018

ในนครนิวยอร์ก (ตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานับจากปี 2020) มีลูกค้าที่รับประทานคนเดียวสูงถึง 35% มากกว่าลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มหรือเป็นคู่ที่คิดเป็น 27% หรือในปี 2019 (ก่อนสถานการณ์โควิด 19) กล่าวได้ว่าสหรัฐอเมริกามีอัตราการจองโต๊ะสำหรับคนเดียวเพิ่มมากขึ้นถึง 62%

แน่นอนว่างานวิจัยเกือบทั้งหมดชี้ว่าแนวโน้มดังกล่าวสัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคม หรืออัตราการขยายตัวของประชากรที่อาศัยอยู่เพียงคนเดียว (ทั้งจากการแต่งงานช้า และปัญหาหย่าร้าง) เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ เช่นในปี 2019 สหรัฐอเมริกามีคนที่อาศัยอยู่เพียงคนเดียวมากถึง 28.4% ซึ่งเมื่อเปรียบกับปี 1969 แล้ว กลับมีประชากรที่อยู่คนเดียวมีเพียง 16.7% เท่านั้น

การกินอาหารโดยลำพังจึงเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ หรือได้กลายเป็นข้อเท็จจริงทางสังคมไปในที่สุด ซึ่งในหลายกรณีก็ได้ถูกเน้นย้ำ หรืออธิบายให้เห็นภาพเชิงลบของพฤติกรรมนี้

หนังสือชื่อดัง Gastrophysics: The New Science of Eating ของชาร์ลส์สเปนซ์ (Charles Spence) ได้อุทิศบทหนึ่งที่ชื่อ Social Dining เพื่ออภิปรายถึงปัญหาจากการกินอาหารคนเดียว ตั้งแต่การเลือกกินอาหารโดยไม่ใส่ใจถึงคุณค่าทางโภชนาการ การบริโภคต่อมื้อมากกว่าปกติ ตกอยู่ในภาวะอ้างว้างโดดเดี่ยว และอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า การกินอาหารเพียงคนเดียวนั้นทำให้น้ำหนักตัวของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นราว 12% ในขณะที่การทานอาหารร่วมกันกับเพื่อนพ้องมิตรสหายทำให้เราทานในปริมาณที่เหมาะสมและทำให้อาหารมื้อนั้นอร่อยมากขึ้น

ถึงแม้ผู้เขียนจะค่อนข้างเห็นคล้อยกับสเปนซ์ในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะแนวคิดที่ว่าการกินอาหารร่วมกันนั้นเป็นรากฐานของอารยธรรมของความเป็นมนุษย์ที่สะท้อนให้เห็นได้จากภาษา เรื่องเล่า และคติความเชื่อต่างๆ ที่ล้วนผูกโยงกับการกินอาหาร ซึ่งชัดเจนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา มนุษย์แทบทุกชนชาติทุกเผ่าพันธุ์ล้วนรับประทานอาหารร่วมกัน เหมือนดังรากศัพท์ของคำว่า company ที่มาจากคำละติน com (ร่วมกัน) + panis (ขนมปัง) ซึ่งแปลความตามตัวอักษรแล้วก็คือ ‘การกินขนมปัง’ ร่วมกัน แต่ถึงกระนั้น ผู้เขียนก็ยอมรับด้วยว่า การกินอาหารคนเดียวได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จนดูเหมือนจะเป็นความเป็นจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้สำหรับคนจำนวนมากบนโลกใบนี้

คำถามข้อหนึ่งที่เกิดติดตามมาก็คือ คนที่รับประทานอาหารคนเดียวโดยเฉพาะในสังคมที่การกินมีลักษณะรวมหมู่สูง เช่นประเทศในโลกตะวันออก หรือโดยเฉพาะสังคมจีนมีความรู้สึกเช่นไร หรือถึงที่สุดแล้วอะไรคือแรงจูงใจให้เขาออกไปนั่งรับประทานอาหารคนเดียวตามร้านรวงต่างๆ

Solo dining in Chinese Restaurant: A mixed-method study in Macao ของซูห์-ฮี ชอยและคณะ (Suh-hee Choi et al.) ดูจะมีส่วนช่วยตอบคำถามข้างต้นได้เป็นอย่างดี งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างประชากรในกรุงมาเก๊าที่ออกไปใช้บริการร้านอาหาร หรือนั่งรับประทานอาหารคนเดียว แล้วพบว่ามีรูปแบบเฉพาะที่น่าสนใจ และมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากงานศึกษาที่ผ่านมา

ดังที่เราทราบกันดีว่า วัฒนธรรมการกินของชาวจีน (ทั้งในแผ่นดินใหญ่และภายในครอบครัวจีนโพ้นทะเล) ให้ความสำคัญกับ ‘การแบ่งปัน’ หรือ การใช้เวลาร่วมกันบนโต๊ะอาหารที่จะมีกับข้าว หรือ cai เป็นส่วนกลาง โดยสมาชิกแต่ละคนที่มีชามข้าวของตัวเองจะกินกับข้าวตรงกลางร่วมกัน

กับข้าวแต่ละจานในร้านอาหารจีนสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของการเป็นอาหารจานกลาง ดังนั้นการสั่งอาหารที่แม้จะเป็นเพียงจานเล็ก แต่ก็มักจะใหญ่เกินกว่าจะรับประทานเพียงคนเดียว ในหลายครั้งการเข้าไปใช้บริการร้านอาหารจีนเพียงลำพังทำให้ลูกค้าไม่สามารถสั่งอาหารรับประทานได้มากเท่ากับรับประทานเป็นกลุ่ม

แต่ถึงกระนั้นผลสำรวจล่าสุดกลับพบว่ามีประชากรชาวจีนที่รับประทานอาหารคนเดียวกลับเพิ่มมากถึง 47% ซึ่งส่งผลให้ร้านอาหารจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนที่นั่งหรือแม้แต่ขนาดของจานอาหารให้สอดคล้องกับรูปแบบพฤติกรรมการทานอาหารที่เปลี่ยนไป

งานวิจัยของชอยและคณะยังได้ชี้ให้เราเห็นอีกด้วยว่า ความรู้สึกเชิงลบต่างๆ เช่น การตกเป็นเป้าสายตา ความรู้สึกโดดเดี่ยว และอึดอัดที่ต้องรับประทานอาหารคนเดียวของชาวจีนในมาเก๊านั้นไม่ได้มีนัยสำคัญมากนัก หรือมิได้เป็นไปในแบบที่งานวิจัยโดยส่วนใหญ่บ่งชี้ ด้วยเพราะคนจีนส่วนหนึ่งเริ่มเล็งเห็นว่า การกินอาหารคนเดียวเป็นทั้งความจำเป็น เป็นทั้งการแสดงให้เห็นถึงอิสระในการเลือก หรือกระทั่งความสะดวกสบาย

ความรู้สึกแปลกแยกและอึดอัด อาจเกิดขึ้นในครั้งแรกๆ เมื่อต้องไปรับประทานอาหารเพียงลำพัง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในช่วงวัยรุ่นตอนต้นถึงตอนปลายจะเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับโลกออนไลน์ หรือการแชตพูดคุยกับใครผ่านแอพพลิเคชั่นที่ทำให้ตัวเองไม่รู้สึกว่าเหมือนอยู่เพียงลำพัง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากขึ้นอาจพูดคุยกับพนักงาน หรือแม้แต่ลูกค้าคนอื่นๆ ที่มาใช้บริการในร้าน

งานวิจัยของชอยและคณะที่ใช้ทั้งแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไปของการออกมารับประทานอาหารคนเดียวในร้านอาหาร (ที่แต่เดิมอาจสงวนไว้สำหรับนักธุรกิจ ครอบครัว เพื่อนฝูง และแม้แต่คนรัก) ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือเป็นหนทางที่ต้องเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีของผู้สูงวัย

การยอมรับและปรับตัวทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการกลายเป็นปรากฏการณ์สากล จนกระทั่งผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารจำนวนไม่น้อยเริ่มเห็นคล้อยว่าวัฒนธรรมการกินอาหารเพียงลำพังแบบญี่ปุ่นได้แพร่กระจายเข้าสู่สังคมจีนสมัยใหม่เป็นที่เรียบร้อย

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนยังคงเชื่อมั่นว่า การกินอาหารเป็นห้วงเวลาแห่งการแบ่งปันสำหรับมนุษย์ เพียงแต่ในทุกวันนี้ เวลาดังกล่าวดูเหมือนจะหดสั้นลง จนเหมือนแทบไม่มีเหลืออยู่อีกแล้วสำหรับใครหลายคน

โลกกลายอาจเป็นสถานที่ที่ทำให้เราโดดเดี่ยวจากกันมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่อาจอยู่เพียงลำพัง เรายังคงโดดเดี่ยวอย่างเป็นสังคม และยังคงต้องหาทางเยียวยาความโดดเดี่ยวนั้นด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ซึ่งบางครั้งอาจคือ การนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน


อ้างอิง

Charles Spence, Gastrophysics: The New Science of Eating (New York: Penguin Random House, 2017).

Louis Marin, Food for Thought, translated by Mette Hjort (Baltimore: John Hopkins University Press, 1989).

Suh-Hee Choi et al. “Solo dining in Chinese restaurants: A mixed-method study in Macao.” International journal of hospitality management vol. 90 (2020).


You May Also Like
Read More

Marmalade

ถ้าพูดถึงคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ขึ้นมาในตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกภาพแยมส้ม หรือแยมเปลือกส้มขึ้นมา โดยอัตโนมัติ เรียกได้ว่าคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ที่แปลว่า ‘แยมส้ม’ นั้นกลายเป็นภาพจำและนิยามของคนปัจจุบันไปแล้ว หากแต่ว่าแยมส้มนั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘ร่างแปลง’ ของมาร์มาเลด ที่ถูกแปลงร่างเปลี่ยนความหมายไปจนมีความหมายที่แตกต่างจนสิ้นเค้าเดิม
Read More
Read More

Shio Ramen

ชินโด ราเมง เป็นร้านที่ตั้งอยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์สีเหลืองอ่อนในตรอกเล็กๆ ตรงข้ามกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หากคุณโชคดีก็จะมีคนหนึ่งหรือสองคน ยืนต่อแถวข้างหน้าคุณ แต่หากโชคร้ายแถวนั้นอาจยาวเสียจนคุณไม่มั่นใจว่าท้องจะสามารถอดทนรอให้ลิ้นของคุณรับรสอันลึกล้ำได้หรือเปล่า เพราะว่ามันอาจส่งเสียงโวยวายเสียงดังเสียจนคนข้างๆ คุณต้องเหลียวหลังมามอง
Read More
Jellied Eels
Read More

Jellied Eels

รสชาติของอังกฤษคืออะไร? หากไม่นับฟิชแอนด์ชิปส์ (Fish and Chips) พายเนื้อ (Meat Pie) ยอร์กเชอร์พุดดิ้ง (Yorkshire Pudding) ที่ยังได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นถึงปัจจุบัน ยังมีอาหารชนิดหนึ่งที่เคยเป็นตัวแทนของรสชาติแบบอังกฤษ ที่กำลังจะเลือนหายไปในปัจจุบัน อาหารที่ว่านั้นคือ เยลลีปลาไหล (Jellied Eels)
Read More
Read More

Culinary Triangle

“การใช้ไฟปรุงอาหารคือนวัตกรรมที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เช่นทุกวันนี้” โคลด เลวี-สโตรส (Claude Lévi-Strauss) เป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่อายุยืนที่สุดในโลก แม้ชื่อของเขามักจะถูกนำไปจำสลับกับกางเกงยีนส์ยี่ห้อดัง แต่สำหรับโลกวิชาการแล้วนั้น เขาคือแบรนด์ทางความคิดที่แข็งแรงและคงอยู่ข้ามศตวรรษ
Read More
Read More

Culinary Revolution

การกำเนิดขึ้นของแท่นพิมพ์ ดินปืน และเข็มทิศในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ได้นำพาความเปลี่ยนหลายอย่างมาสู่โลกของอาหาร เริ่มจากเครื่องเทศ และวัตถุดิบจากแดนไกลไม่ว่าจะเป็นอัฟริกา อินเดีย ละตินอเมริกาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอาหาร ถัดจากนั้นวิทยาการด้านการพิมพ์ทำให้ตำรับตำราอาหารเผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่องการปรุงและการทำไปทั่วทั้งยุโรป และที่สุดตำแหน่งพ่อครัวที่ไม่เคยมีบทบาทอะไร กลับเริ่มโดดเด่นขึ้นในฐานะของศิลปินผู้สร้างสรรค์จานอาหาร หนึ่งในนั้นได้แก่ มาเอสโตร มาร์ติโนแห่งโคโม (Maestro Martino of Como) พ่อครัวที่เคยทำงานในราชสำนักแห่งมิลาน ผู้เขียน Libro de arte coquinara (Book of the Art of Cooking)
Read More
Read More

Maillard Reaction

“การทำอาหารคือวิทยาศาสตร์” นี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่แพร่หลายในแวดวงอาหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าการค้นพบแนวคิดทฤษฎีสำคัญโดยมากนั้นมักไม่ค่อยถูกยอมรับในทันที อย่างผลงานของ Nicolaus Copernicus ที่เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็ต้องใช้เวลาเนิ่นนานนับเป็นร้อยปี กว่าจะเป็นที่ยอมรับในหมู่นักดาราศาสตร์และฟิสิกส์ จึงไม่แปลกอะไรที่นักเคมีและนายแพทย์ชาวฝรั่งเศส Camille-Louis Maillard จากเมืองน็องซี (Nancy) ผู้ค้นพบปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างอนุภาคน้ำตาลกับสารประกอบโปรตีนขณะได้รับความร้อน และได้เสนอความคิดนี้ต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิในปี 1912 ก็มิวายถูกมองเป็นเพียงรายงานวิจัยธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่งเท่านั้น
Read More