โลกอาหารใต้การบงการของสายตา
ในฐานะของสิ่งมีชีวิตที่ใช้พลังงาน 25% ในแต่ละวันไปกับสมอง ซึ่งเมื่อเปรียบกับน้ำหนักตัวแล้ว สมองนั้นมีน้ำหนักเพียงไม่เกิน 2% ของมวลรวมของร่างกาย และมนุษย์เรานั้นใช้ประโยชน์การรับรู้ทางสายตาเก็บข้อมูลต่างๆ ใส่สมองจนอาจเรียกได้ว่ามากกว่า หู จมูก ผิวหนัง และลิ้น หลายต่อหลายเท่า
การมองเห็นสำหรับมนุษย์จึงเป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวัน นับตั้งแต่เริ่มตื่นลืมตาขึ้นมา แม้เทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียงจะพัฒนาขึ้นโดยลำดับ แต่การปฏิสัมพันธ์กับโลกด้วยสายตาก็ยังคงเป็นที่มนุษย์พึ่งพิงมากที่สุด เราดูฉลากสินค้า วันหมดอายุที่ข้างกล่องนม ป้ายที่ติดมากับขนมปัง หมายเลขรถประจำทาง ข้อความบนโทรศัพท์มือถือ และระบบสัญญะต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากที่มนุษย์สร้างขึ้นมา
เช่นเดียวกับอาหารที่เราบริโภคเข้าไปในแต่ละวันที่ “เราลิ้มรสแรกนับตั้งแต่ตาเห็น” ดังคำกล่าวของ Marcus Gavius Apicius นักกินจากศตวรรษที่ 1
‘หน้าตา’ หรือ ‘ภาพอาหาร’ คือ ‘รสทางสายตา’ อย่างน้อยก็สำหรับหลายคนที่ก้าวเข้าไปในร้านอาหาร ไม่ว่าจะเพื่อเสพรับประสบการณ์ใหม่ หรือกระทั่งประทังความหิว
จนไม่เกินเลยไปนัก หากจะกล่าวว่า ‘ภาพลักษณ์’ ของอาหารนั้นส่งผลต่อรสชาติ ดังที่นักฟิสิกส์อาหาร (Gastrophysicist) อย่าง Charles Spence และคณะได้พยายามพิสูจน์ให้เราเห็นผ่านงานค้นคว้าของจำนวนหนึ่ง ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นสีสัน รูปร่าง และกระทั่งการจัดวางสามารถส่งผลต่อรส หรือข้อมูลเกี่ยวกับรสต่างๆ ที่เรามีในสมอง
เมื่อมองผ่านประวัติศาสตร์อาหาร คงต้องกล่าวว่า หน้าตาของอาหารจากอดีตมาจนปัจจุบันนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อย่างช่วงที่ใกล้เรามาสักหน่อย อย่างศตวรรษที่ 20 ก็จะพบว่า การการก้าวขึ้นมาของ Nouvelle Cuisine ในทศวรรษที่ 1960 โดยมีเชฟชั้นนำชาวฝรั่งเศส อาทิเช่น Paul Bocuse, Jean&Pierre Troisgros เป็นหัวขบวนความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ได้ทำให้อาหารในแต่ละจาน มี ‘ขนาด’ หรือ ‘สัดส่วน’ ต่อครั้งของการรับประทานย่อมลงมา ความเยอะ ความล้นกลายเป็นสิ่งที่เชฟไม่นิยมอีกต่อไป ส่งผลให้ซอสที่ครั้งหนึ่งเป็นเคยเป็นหัวใจของอาหารฝรั่งเศสเหลือเป็นเพียงลวดลาย หรือเครื่องประดับบนจาน
โดยส่วนหนึ่งนั้นต้องกล่าวว่า เป็นอิทธิพลจากอาหารญี่ปุ่นชั้นสูง (Kaiseki) ที่นิยมจัดจานในลักษณะคำเล็กคำน้อยให้มีความสวยงาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเชฟชาวฝรั่งเศสทั้งหลายทั้งทางตรงทางอ้อม จนนำไปสู่วิวัฒนาการด้านอาหารที่เรียกกันว่า Molecular gastronomy หรือ Modernist cuisine ที่ได้เปลี่ยนแปลงให้หน้าตาอาหารหลายแลดูเหมือนหลุดมาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ ด้วยการผสานเทคโนโลยีและความรู้ทางด้านเคมีและฟิสิกส์ในการสร้างสรรค์อาหารในแต่ละจานขึ้นมา
อย่าง Heston Blumenthal แห่งร้านอาหาร Fat Duck ได้จัดทำอาหารเมนู Orange and Beetroot Jelly เพื่อท้าทายการรับรู้ทางสายตาของเรา ด้วยการทำให้เยลลี่สีแดง (ซึ่งเขาทำจาก Blood Orange) มีรสส้ม ในขณะที่เขาทำให้เยลลี่สีส้มเป็นรสบีทรูท (ซึ่งเขาใช้บีทรูทสีเหลือง)
เมื่อแรกเห็น สายตาเราย่อมกำหนดรสชาติไว้ก่อนแล้วว่า เยลลี่สีส้มน่าจะมีรสส้ม และสีแดงน่าจะหมายถึงบีทรูท แต่การณ์กลับไม่เป็นไปเช่นนั้นการอำเล่นของ Blumenthal นั้นก็มาจากแนวคิดด้านฟิสิกส์อาหารที่บอกว่า เราลิ้มรสตั้งแต่แรกเห็น รสของ Orange and Beetroot Jelly จึงสามารถพูดได้ว่ามีถึง 4 รสด้วยกัน หนึ่งคือรสจากการมอง 2 รส และสองรสจากการชิมอีก 2 รส
การปกครองควบคุมร่างกายผ่านสายตาจึงยังคงเป็นเรื่องน่าพิศวงและชวนค้นหา ซึ่งแน่นอนว่า เราจะได้นำมาบอกเล่าในคราวต่อๆ ไป
อ้างอิง
Deroy, O., Michel, C., Piqueras-Fiszman, B., & Spence, C. (2014). The plating manifesto (I): from decoration to creation. Flavour, 3(1), 6. doi:10.1186/2044-7248-3-6
Harrar, V., & Spence, C. (2013). The taste of cutlery: how the taste of food is affected by the weight, size, shape, and colour of the cutlery used to eat it. Flavour, 2(1), 21. doi:10.1186/2044-7248-2-21
Piqueras-Fiszman, Betina; Spence, Charles. (2014). The perfect meal : the multisensory science of food and dining.
Spence, C., & Ngo, M. (2012). Assessing the shape symbolism of the taste, flavour, and texture of foods and beverages. Flavour, 1(1), 12. doi:10.1186/2044-7248-1-12