Music at the Meals #01
สำรวจประวัติศาสตร์ดนตรีการในมื้ออาหารและงานเลี้ยง
ตอนที่ 1: งานเลี้ยงกับพิธีกรรม
“ยูเมอัสเอ๋ย ข้าว่านี่จะต้องเป็นราชวัง
แห่งโอดิสซุสเป็นแน่แท้…
ข้ารู้สึกว่าต้องมีคนกลุ่มใหญ่
กำลังเลี้ยงอาหารค่ำกันอยู่ข้างใน
ด้วยกลิ่นหอมของเนื้อย่างลอยฟุ้งออกมา
แล้วอีกกังวานของเสียงพิณ
สิ่งซึ่งเทพเจ้าได้ทรงรังสรรค์
มาให้คู่กับงานเลี้ยงยังไงเล่า”
ความสัมพันธ์ระหว่างการดนตรี (ร้อง/รำ/เล่น) กับมื้ออาหารนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มื้ออาหารที่ทานร่วมกับผู้อื่น (communal meal ซึ่งผู้เขียนขอแปลหยาบ ๆ ว่า “มื้อสังคม”) มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ถึงพิธีกรรม อาหาร เครื่องดนตรี ในโลกยุคสัมฤทธิ์ (Bronze Age) มีรูปวาดและรูปสลักต่าง ๆ ที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมของการดนตรีในงานเลี้ยงในอารยธรรมตะวันตก ไล่ตั้งแต่เมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีกโบราณ มาจนถึงยุโรปยุคใหม่ ส่วนอีกฟากหนึ่ง ภาพวาดจากอาณาจักรเปอร์เซีย และบันทึกต่าง ๆ ของจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ เองก็มีการกล่าวถึงส่วนร่วมของดนตรีในมื้ออาหาร หรืออย่างในมหากาพย์บุร่ำบุราณของกรีกอย่าง Odyssey ของ โฮเมอร์ (Homer) ก็มีบันทึกถึงการที่ดนตรีเป็นสิ่งคู่งานเลี้ยงดังเช่นในประโยคเปิดบทความข้างต้น
การกินกับการฟัง/ชม ดนตรี/มหรสพ อาจส่งเสริมหรือสนับสนุนกันและกัน เสียงพิณในงานเลี้ยงของวังโอดิสซุสอาจเป็นการสร้างความรื่นเริงให้การดื่มกินมีรสมีชาติขึ้น ส่วนในโรงหนังสมัยปัจจุบันบางคนก็ว่าป๊อปคอร์นทำให้ดูหนังสนุกขึ้น ในภัตตาคารบ้างก็ว่าฟังเพลงแล้วทานอาหารอร่อยขึ้น ส่วนตัวผู้เขียนเองนั้น ในวัยเด็กพบว่าการกินผัดไทยคู่กับการดูโคนัน และการกินข้าวมันไก่คู่กับการดูโดเรมอนนั้น ทำให้ทั้งการกินและการดูมีอรรถรสมากขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
แต่การกินนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องของรสชาติ และการเสพดนตรี/มหรสพก็ไม่ใช่เพียงเพื่อสุนทรียภาพ ดนตรีในผับนั้นทำให้เราต้องแนบหน้าแนบหูกับเพื่อนใหม่ ทำให้เราออกไปเต้น-แสดงออก-ผูกมิตร ดนตรีพื้นบ้านในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ตกแต่งแบบโบราณทำให้การกินนั้นพาเราออกจากป่าคอนกรีตไปนั่งในบ้านญี่ปุ่นชั่วคราว ดนตรีออร์เคสตราในงานแต่งงานของโรงแรมหรูทำให้เรากลายเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงที่เข้าร่วมงานบอลได้ จะเห็นได้ว่านอกจากการมีส่วนร่วมในฐานะความบันเทิงหรือสร้างบรรยากาศแล้ว ดนตรียังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือควบคุมหรือส่งอิทธิพลต่อผู้ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งดนตรีแผ่พลังอำนาจ และเมื่อร่วมกับองค์ประกอบอื่น อาจปลุกเสกโลกจินตนาการให้เกิดขึ้นมาได้
มากไปกว่านั้น ดนตรียังสามารถเป็นส่วนทำให้มื้ออาหารหรืองานกินดื่มนั้นมีสภาพเป็นดั่งพิธีกรรม (ritual) อย่างการใช้เสียงดนตรีเปิดงาน ปิดงาน หรือให้สัญญาณการเฉลิมฉลอง ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเราที่สุดมีเช่น การยกแก้วดื่ม (toast) ให้แก่บ่าวสาวในงานแต่งงาน และเสียงเพลงมหาฤกษ์ในหลายงานแต่งงานแบบไทยสากลนั้นทำให้การดื่มไม่เป็นเพียงการนำของเหลวเข้าสู่ร่างกาย แต่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งจุดไคลแมกซ์ของงานพิธี แปรอากัปกิริยาการดื่มจากการบริโภคให้กลายเป็นการอวยพร และเปลี่ยนสถานะของแขก ในฐานะผู้ดื่มกินอาหารของเจ้าภาพและฐานะผู้ชมฉากการแสดงของบ่าวสาว ให้กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมกับการแสดง (เปลี่ยนจาก spectator มาเป็น participant) หนำซ้ำยังมีพลังอำนาจในการอวยพรอีกด้วย
การแปรเปลี่ยนความหมายของการดื่มกินนั้นเป็นพลังของความเป็นพิธีกรรม ซึ่งพิธีกรรมคือสิ่งที่พ่วงมาด้วยองค์ประกอบทางการละคร (dramaturgical elements) อันได้แก่ ดนตรี การเต้นรำ การแสดง การสวมบทบาท เสื้อผ้าหน้าผม เป็นต้น (ดังเช่นตัวอย่างของการแต่งงานสมัยใหม่ข้างต้นที่มีการใช้ดนตรีทั้งสำหรับเป็นเครื่องสร้างบรรยากาศ เครื่องเร้าอารมณ์ และเป็นสัญญาณบอกขั้นตอนพิธี ประกอบไปกับการแต่งตัวและการรับบทบาทของคนบนเวที) ซึ่งความเป็นพิธีกรรมนี้ก็ได้สอดแทรกแฝงฝังอยู่ในมื้อสังคมประเภทต่าง ๆ มาตลอดประวัติศาสตร์
มื้อสังคมนั้นมีอยู่หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการทานข้าวในโรงอาหาร ในงานจัดเลี้ยง (banquet) หรืองานเลี้ยงฉลอง (feast) ซึ่งมื้อประเภทงานเลี้ยง คือ banquet และ feast นั้น ในหลายอารยธรรมและหลายสมัยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็มีคุณลักษณะของความเป็นพิธีกรรมของงานสูงมาก กล่าวคือมีขั้นตอนและองค์ประกอบทางการละครต่าง ๆ กอปรกับประเภทหรือเมนูอาหารเฉพาะ ที่ทำให้มื้ออาหารเหล่านี้เป็นมื้ออาหารที่ “ไม่ปกติ” หรือ “พิเศษ” เมื่อเทียบกับมื้อสามัญประจำวันทั่วไป (หากใช้ศัพท์ทางสัญวิทยาก็เรียกว่ามีความ “markedness”) หรือถ้าจะพูดให้ดูใหญ่โตกว่านั้น ก็อาจจะเรียกได้ว่า มันเป็นร่างจำแลง รูปย่อส่วน หรือมรดกตกทอดมาจากพิธีกรรมแบบที่ปรากฏอยู่ในยุคบรมสมกัปป์ของมนุษยชาติ
ในบทความชุดนี้ เราจะไปสำรวจบทบาทขององค์ประกอบทางการละครดังกล่าวโดยเน้นที่ดนตรี (ซึ่งอาจพ่วงมาด้วยศิลปะเครือญาติแขนงอื่นคือ การเต้นรำ และการละคร) ที่เป็นส่วนสำคัญของมื้อสังคมต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ รวมถึงไปทำความรู้จักกับรูปแบบของมื้ออาหารเหล่านั้นด้วย
พิธีกรรมและดนตรี
นักโบราณคดี ไมเคิล ดีทเลอร์ (Michael Dietler) อธิบายคำว่า feast (ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาลในสังคมบรรพกาล) ไว้ว่าเป็นการกินดื่มแบบมื้อสังคมที่มีลักษณะของความเป็น “พิธีกรรม” ร่วมอยู่ด้วย เช่นนั้นแล้ว เราจะมาสำรวจลักษณะของความเป็นพิธีกรรมกันก่อน วิคเตอร์ เทอร์เนอร์ (Victor Turner) ได้ให้คำนิยาม ไว้ว่า “พิธีกรรมคือขั้นตอนกิจกรรมที่ใช้ท่าทาง คำพูด วัตถุ แสดงในพื้นที่ซึ่งแยกตัวออกมา และถูกออกแบบให้ส่งอิทธิพลถึงพลังหรือสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อให้ตอบสนองต่อเป้าประสงค์ของผู้แสดง” ซึ่งพิธีกรรมนั้นก็ถูกแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ด้วยวิธีการหลายแบบตามแต่ละสำนักคิด ด้วยตามกระบวนทัศน์แบบต่าง ๆ ตั้งแต่การแบ่งอย่างง่าย ๆ ว่า เป็นแบบ Positive กับ Negative ของ เอมีล เดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) ไปจนถึงการแบ่งตามหน้าที่โดยนักวิชาการรุ่นต่อ ๆ มา อาทิ การจัดหมวดของ แคเธอรีน เบลล์ ว่าเป็น 1) Rites of passage (พิธีผ่านภาวะ) 2) Calendrical and commemorative rites 3) Rites of exchange and communion 4) Rites of affiction 5) Rites of feasting, fasting and festivals 6) Political rituals
ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งประเภทไหน ส่วนร่วมอย่างหนึ่งของพิธีกรรมแบบต่าง ๆ คือ เป็น “การแสดง” อย่างที่ วิคเตอร์ เทอร์เนอร์ ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งในหนังสือ Homo Ludens ซึ่งศึกษาแนวคิดเรื่อง “Play” ที่อยู่ในวัฒนธรรม ผู้เขียนคือ โยฮัน ฮอยซิงกา (Johan Huizinga) ได้ตั้งสมการว่า “The rite is a dromenon, which means “something acted”, an act, action. That which is enacted, or the stuff of the action, is a drama, which again means act, action represented on a stage.” และกล่าวต่อว่า “‘ritual act’ represents a cosmic happening, an event in the natural process.” ซึ่งฮอยซิงกาก็ได้เน้นย้ำว่า คำว่า representation ในที่นี้มิได้หมายความเพียงเป็นภาพแทน แต่เป็นการ re-presentation เหตุการณ์ หรือพูดในอีกแง่หนึ่งก็คือ การผลิตซ้ำ (reproduce) เหตุการณ์ขึ้นมา (อย่างที่ชาวกรีกจะบอกว่า ไม่ใช่ mimetic แต่เป็น methectic) เขาพูดต่อไปอีกว่า “Ritual is this in the main a matter of shows, representations, dramatic performances, imaginative actualizations of a vicarious nature.” เมื่อไล่เรียงสมการดังกล่าว จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบทางการละครนั้นเป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เหตุการณ์ศักดิ์ิสิทธิ์เหล่านั้นเกิดขึ้นและสำเร็จลงได้่ (นอกจากนี้ ฮอยซิงกายังเทียบ feast กับ play ว่ามีลักษณะร่วมกันอยู่มากอีกด้วย)
นอกจากนี้ ในเมื่อพิธีกรรมเป็นสิ่งที่แตกต่างและแปลกแยกออกจากเวลาทั่วไปในชีวิตประจำวัน พิธีกรรมจึงเป็นห้วงเวลาขณะหนึ่งที่แยกตัวออกมา นั่นหมายถึงคือการมีจุดเริ่มต้นและจุดจบ และภายในนั้นก็มีขั้นตอน (sequence) ต่าง ๆ ซึ่งขั้นตอนตั้งแต่การเปิด-ปิดพิธี ไปจนถึงการเริ่มงานนั้นก็ได้องค์ประกอบทางการละครเป็นเครื่องมือในจากสร้างหมุดหมายหรือสัญลักษณ์ (mark) บอกขั้นตอน ยกตัวอย่างเช่นในพิธีมิสซาของโบสถ์คาทอลิก ขั้นตอนต่าง ๆ ใช้เพลงเป็นการเริ่ม การดำเนิน และการจบพิธี ซึ่งลักษณะเช่นนี้เราก็พบในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก อย่างในประเทศไทยปัจจุบัน เราเห็นขั้นตอนดังว่าในพระราชพิธีหรืองานรับปริญญาบัตร หรืออย่างพิธีแต่งงานที่ยกตัวอย่างไปตอนต้นว่า มีการใช้เพลงนำบ่าวสาว (อาทิ Wedding March) เข้ามาในพิธี และมีเพลง (อาทิ มหาฤกษ์) ในการยกแก้วดื่มอวยพร ดังนั้นแล้วเราจึงพูดได้ว่า ดนตรีรับบทบาทหน้าที่เป็นหมุดทางเวลา (mark of time)
แต่การสร้างพิธีกรรมไม่ได้ใช้เพียงการแยกห้วง “กาล” (time) ออกมา แต่ยังต้องใช้การแยกห้วง “เทศะ” (space) ออกมาอีกด้วย พิธีกรรมต้องการเขตขัณฑ์ ต้องการให้ผู้เข้าร่วมมาอยู่ในมณฑลพิธี หรืออย่างน้อยที่สุดต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรม-มองเห็น-ได้ยินพิธี อย่างน้อยที่สุด การเข้าพิธีในวัดไทย เราก็ต้องเข้าไปในบริเวณที่ได้ยินพระสวด บางทีดนตรีจะมีอำนาจแห่งพิธีกรรมได้ก็ต่อเมื่อผู้ร่วมเข้ามาอยู่เขตแดนของเสียง เช่นที่ในตำรานาฏยศาสตร์มีการพูดถึงว่าเสียงดนตรีสำหรับพิธีศาสนาอย่าง คันธรรพสังคีต (Gandharva Sangita) นั้นมีอำนาจในการปัดเป่าบาปและปกป้องเราจากสิ่งชั่วร้าย “ในสถานซึ่งอัดแน่นด้วยเสียงจากเครื่องดนตรี จะไม่มีรากษสหรือพญาวิฆนาตนใดดำรงอยู่” ซึ่งเมื่อมองในแง่นี้ เสียงและดนตรีจึงทำหน้าที่กำหนดขอบเขตของพื้นที่พิธี (mark of space) ด้วย
มากไปกว่านั้น การดนตรียังใช้ประกอบกับขั้นตอนและอากัปกิริยาต่าง ๆ เช่น การแห่ขบวน การถวายเครื่องบูชา หรือเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อกับมิติเทพหรือโลกวิญญาณ เช่นเพลงเชิญเทวดา เพลงเรียกผีมาเข้าทรง นอกจากนี้ เพลง (บางครั้งร่วมกับแอลกอฮอล์และสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต่อประสาท) ใช้นำให้คนในพิธีเข้าสู่ภวังค์ (trance) รวมไปถึงถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างอารมณ์ร่วมและจุดชนวนกิจกรรมทางสังคมด้วย
พิธีกรรมในมื้ออาหาร
ในบางพิธี งานเลี้ยงหรือมื้อสังคมเป็นสิ่งที่ตามมาหลังส่วนบูชาเทพ-ผี จบลง มีการแบ่งส่วนเหลือจากการถวายมาแจกจ่าย องค์ประกอบทางการละครแปลงสภาพมาเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิง ซึ่งต้องเน้นย้ำในที่นี้ว่าการดนตรีและความบันเทิงนั้นมิใช่มีเพียงการแบ่งฝั่ง ผู้แสดง-ผู้ชม แต่การดนตรีอาจเป็นการร้องเล่นเต้นด้วยกัน เป็นกิจกรรมการเข้าสังคม (หรือเป็น participatory music) เช่นเดียวกับที่เราเต้นในผับ นันทนาการในค่ายลูกเสือ (ซึ่งก็เต็มไปด้วยพิธีและสัญลักษณ์อีก) การร้องเพลงเกี่ยวข้าวของชาวนา หรือการร้องเพลงแบบเซเครดฮาร์ป (Sacred Harp) ของทางนิวอิงแลนด์
ในขณะที่บางพิธีมีงานเลี้ยง แล้วหลายงานเลี้ยง (ทั้ง banquet และ feast) ก็มีลักษณะเป็นงานพิธี ย้อนกลับไปที่นิยามเกี่ยวกับ feast ข้างต้นว่าเป็นมื้อสังคมที่มีความเป็นพิธีกรรมสูง และ feast นั้นก็เป็นสิ่งที่มีความบันเทิงต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่ามีศิลปะจากอารยธรรมต่าง ๆ ที่แสดงถึงงานเลี้ยง นักดนตรี และมหรสพ แต่ความบันเทิงไม่ใช่เพียงความบันเทิง งานเลี้ยงไม่ได้มีแต่ความรื่นเริง งานเลี้ยงนั้นยังเป็นพื้นที่ทางการเมือง ที่เจ้าภาพต้องการแสดงอำนาจและความรุ่มรวยทั้งทางทรัพยากรและวัฒนธรรมทั้งกับคนในชุมชนของตัวและแสดงให้แขกเหรื่อจากต่างชุมชนได้เห็น (ยังไม่นับการเมืองระดับจุลภาค เช่น การให้ของขวัญ ให้ทาน สร้างบุญคุณ) องค์ประกอบทางการละครจึงเข้าไปมีบทบาทในการสนามการเมืองแห่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ด้วย ความยิ่งใหญ่ตระการตาจึงไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นอาหารหูอาหารตา หรือเพียงเพื่อจำลองห้วงกาละและเทศะแห่งโลกเทพปกรณัม แต่มันยังสำแดงและขับเน้นความเป็นผู้มีบารมี หรือในบางกรณีก็คือเป็นผู้สืบเชื้อสายเทวดาของเจ้าภาพด้วย
เจ้านครและราชารับบทบาทลูกหลานเทพมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบาบิโลน อียิปต์ และเช่นที่สะท้อนในคติเทวราชาของโลกตะวันออก การเล่นเป็นเทพของราชานั้นตกทอดมาถึงผู้ปกครองระดับสามัญชนที่ต้องการส้รางภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่ให้ตัวเอง ยกตัวอย่างคณะผู้ปกครองนครฟลอเรนซ์ในช่วงศตวรรษที่ 14 ที่เรียกว่า ซิญญอเรีย (Signoria) ในมื้ออาหารที่ทานร่วมกันประจำวันสองมื้อของซิญญอเรีย (mensa) นั้นมีพิธีกรรมที่น่าสนใจ คือในการรับประทานอาหารจะมีนายพิธี (Herald) เป็นผู้ประกาศขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งยังมีหน้าที่ขับร้องเพลงในช่วงมื้ออาหาร โดยเพลงที่ร้องคือ เพลงสอนใจ (moral songs หรือ canzone morali) ซึ่งเป็นบทเพลงจำพวกที่พูดถึงบทบาทหน้าที่อันสมควรของผู้ปกครอง อาจเป็นเพลงนิทานประวัติศาสตร์ หรือว่าด้วยวีรบุรุษ (อาจเป็นในขนบที่คล้ายคลึงกับเพลงจำพวกที่ร้องโดยบรรดาศิลปินสมัยนั้นอย่างนักร้อง troubadours หรือ minstrel) เพื่อให้เหล่าผู้ปกครองได้รับการย้ำเตือนอยู่เสมอถึงศีลธรรมจรรยาและบทบาทความรับผิดชอบของตัว (ซึ่งถ้ามองในแง่หนึ่ง บทบาทของเพลงแบบนี้อาจคล้ายกับบทสวดหรือเพลงสวด hymn ของคริสตชนเพื่อรำลึกถึงพระเจ้าอยู่เสมอ)
แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีการจัดตั้งวงแตรทรอมเบตตี (Trombetti) อันประกอบด้วยทรัมเป็ตหลายตัว รวมถึงการจัดตั้งวงปี่พิฟเฟอรี (Pifferi) ตามแบบราชสำนักเบอร์กันดีขึ้นมา วงแตรทรอมเบตตีนั้นถูกจัดตั้งเป็นวงประจำเมืองอย่างเป็นทางการ มีชุดเครื่องแบบ มีเสียงดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ มักเดินนำขบวนเดินทางของคณะปกครอง เมื่อผู้ปกครองไปที่ไหน จะมีเสียงของวงแตรติดสอยไปด้วยเป็นดั่งเครื่องหมายประจำตัว
เป็นที่รับรู้กันในดินแดนยุโรปมาก่อนหน้านั้นนานแล้วถึงการใช้เสียงแตรเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นราชวงศ์ การนำวงแตรมาประดับคณะซิญญอเรียจึงเป็นดั่งการเพิ่มความเป็นราชนิกุลให้กับบุคคลในคณะปกครอง ไม่เพียงเท่านั้น ศักดิ์อันพิเศษนี้ยังสามารถถูกนำไปแปะให้กับแขกเหรื่อได้อีกด้วย อย่างในกรณีมื้อเมนซา เมื่อเวลาผ่านไปพร้อมการเกิดขึ้นของวงดนตรีทั้งสองแบบที่กล่าวมา วงทั้งสองร่วมกับวงขับร้องได้เข้ามามีบทบาทในมื้ออาหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้วงแตรป่าวประกาศการเดินเข้ามาในห้องอาหารของซิญญอเรียหรือของแขก ไปจนถึงการเป่าเสียงสัญญาณการเสิร์ฟคอร์สอาหาร ส่วนวงขับร้องและวงพิฟเฟอรีนั้นทำหน้าที่สร้างเพื่อความบันเทิงเริงรมย์ระหว่างมื้ออาหาร ส่วนเพลงสอนใจของนายพิธีนั้นก็กลายเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งท่ามกลางมหรสพแบบราชนิกุลเหล่านี้
การใช้แตรเป็นสัญญาณการเดินเข้าออกของแขก บุคคลสำคัญ และการเสิร์ฟอาหารนั้น เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในงานเลี้ยง banquet ที่พบเห็นในราชสำนักต่าง ๆ ในยุโรป ซึ่ง “ความพิธีกรรม” หรือซึ่งก็คือ “ความละคร” เหล่านี้ จะนำพามื้ออาหารไปสู่การเป็นเวทีแห่งละคร จนในที่สุดมื้ออาหาร การดนตรี พิธีกรรม และมหรสพทั้งหลายจะกลืนกลายเป็นสิ่งเดียวกัน
อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม
Altmann, P., & Fu, J. (2014). Feasting in the archaeology and texts of the Bible and the ancient Near East. Winona Lake, IN: Eisenbrauns.
Aldridge, D. (2007) Dining rituals and music. Music Therapy Today (Online 1st April) Vol.VIII (1), 26-38.
Beck, G. L. (2014). Sonic liturgy: Ritual and music in Hindu tradition. New Delphi: Dev & Distributors.
Becker, J. (2004). Deep listeners: Music, emotion, and trancing. Bloomington: Indiana University Press.
Bell, C., & Aslan, R. (2009). Ritual: Perspectives and dimensions. Oxford: Oxford University Press.
Campbell, J. (1991). Primitive mythology. Harmondsworth: Penguin Books.
Dietler, M., & Hayden, B. (2010). Feasts: Archaeological and ethnographic perspectives on food, politics, and power. Tuscaloosa, Ala.: University of Alabama Press.
Hayden, B. (2020). Power of ritual in prehistory: Secret societies and origins of social complexity. S.l.: Cambridge University Press US.
Huizinga, J. (1980). Homo ludens: A study of the play-element in culture. London: Routledge & Kegan Paul.
Lucas, A. E. (n.d.). Music of a thousand years: A new history of Persian musical traditions. Oakland: California.
Lynch, O. M. (1990). Divine passion: The social construction of emotion in India:. Berkeley: University of California Press.
Mcgee, T. J. (1999). Dinner Music for the Florentine Signoria, 1350-1450. Speculum, 74(1), 95-114.
Michaels, A. (Ed.). (2010). Ritual dynamics and the science of ritual. Wiesbaden: Harrassowitz Verlag.
Pollock, S. (2017). Between feasts and daily meals: Towards an archaeology of commensal spaces. Berlin: Edition Topoi/Exzellenzcluster Topoi der Freien Universitat Berlin und der Humboldt-Universitat zu Berlin.
Pritchard, J. B. (1993). Ancient Near Eastern texts relating to the Old Testament. Ann Arbor, MI: UMI, University Microfilms International.
Smith, J. A. (2021). Music in religious cults of the ancient Near East. London: Routledge, Taylor & Franics Group.
Turner, V. W. (1982). The forest of symbols: Aspects of Ndembu ritual. Ithaca, NY: Cornell University Press.