Murder in the Kitchen
ฆาตกรรมในครัว
บทบันทึกของอาหารในยุค Lost Generation

ปารีสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายเป็นเมืองในฝันของบรรดานักเขียนและนักสร้างสรรค์จำนวนมากโดยเฉพาะจากฟากฝั่งอเมริกา ด้วยเพราะค่าเงินฟรังก์ที่ตกต่ำจนทำให้ค่าครองชีพถูกลงอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งก็เหมาะกับวิถีชีวิตแบบศิลปินที่ส่วนใหญ่มักมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายเสมอ อย่างไรก็ตาม Alice B. Toklas ผู้เขียน Murder in the Kitchen นั้นต้องถือว่าเป็นผู้นำกระแส เพราะได้ย้ายมาพำนักในปารีสตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะอุบัติขึ้นด้วยซ้ำไป

Murder in the Kitchen (ที่คัดสรรมาจากหนังสือ Alice B. Toklas  Cook Book) เป็นบันทึกความทรงจำในรูปสูตรอาหาร ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ Toklas นั้นเป็นทั้งคนรักและคู่ชีวิตของ Gertrude Stein นักเขียนหญิงชาวอเมริกันคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 และ Stein นั้นก็เป็นเหมือนศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาลที่มีนักเขียนและศิลปินในยุค Lost Generation เป็นดาวบริวาร หนึ่งในนั้นก็เช่น Pablo Picasso, Francis Picabia หรือ Ernest Hemingway ซึ่งก็ทำให้บทบันทึกของ Toklas เล่มนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวและสูตรอาหารที่เธอทำให้คนเหล่านี้กินด้วย

Gertrude Stein และ Alice B. Toklas

Toklas เล่าว่าก่อนหน้าที่เธอจะย้ายมาปารีส (เมื่อปี 1908) เธอสนใจเรื่องอาหารอยู่บ้าง เพียงแต่เมื่อเธอย้ายมาอยู่กับ Stein ที่ถนน Rue de Fleurus เธอก็ได้เริ่มทำอาหารอเมริกันในค่ำวันอาทิตย์ เพราะหนึ่งพวกเธอเบื่ออาหารฝรั่งเศสและอิตาลี และสองก็เพราะเป็นวันหยุดพักผ่อนของแม่ครัว

Toklas เริ่มต้นจากอาหารจานง่ายๆ ที่เธอเคยกินเมื่อครั้งยังอยู่ที่ Joaquin Valley แคลิฟอร์เนีย เป็นสตูว์ไก่ในซอสครีมข้นกินคู่กับคอร์นเบรด (Cornbread) ขนมปังผิวสัมผัสคล้ายเค้กที่ทำจากข้าวโพด มีของหวานเป็นพายแอปเปิลหรือพายมะนาว และภายหลังจากที่ Stein เห็นว่าฝีมือการทำแป้งพายพอใช้ได้แล้วเธอก็เริ่มทำพายเนื้อ

ในช่วงวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) เธอได้ทำซอสสำหรับกินคู่กับไก่งวงสามแบบ คือซอสเห็ด ซอสเกาลัด และซอสหอยนางรม จากนั้นเธอก็เริ่มทดลองทำอาหารสูตรใหม่ๆ มากขึ้น หนึ่งในนั้นที่เธอประทับใจก็คงเป็นจานที่เธอทำให้ Picasso

ดังที่ Toklas และคนทั่วไปในเวลานั้นทราบกันว่า Picasso นั้นควบคุมอาหาร และโดยส่วนตัวนั้นก็เป็นคนที่มีรสนิยมการกินที่เฉพาะมากๆ เช่นเขาไม่กินเนื้อแดงทั้งหลาย ดังนั้นการทำอาหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่อาหารขาดแคลนจึงเป็นงานยากสำหรับเธอ

Toklas เลือกทำอาหารจานปลาให้ Picasso โดยใช้ปลากะพงขาวและใช้สูตรจากคุณยายของเธอ (ที่เธอเล่าอย่างติดตลกว่าเป็นนักทฤษฎีอาหารผู้รู้สูตรต่างๆ มากมายแต่ไม่เคยปฏิบัติด้วยตัวเอง) เธอใช้ไวน์ขาว เกลือ พริกไทย ใบมะกอก ใบไทม์ นัทเม็ก หัวหอม แครอท และสมุนไพรปรุงรสมาต้มปลา Toklas ตกแต่งอาหารจานนี้งดงามเสียจน Picasso เอ่ยปากชม และกล่าวอย่างถ่อมตนว่า ผู้ที่สมควรได้ลิ้มรสอาหารจานนี้น่าจะเป็นยอดศิลปินอย่าง Matisse มากกว่าเขา

ชื่อ Murder in the Kitchen ได้มาจากบทตอนหนึ่งในเล่มที่กล่าวถึงการฆ่าปลาของ Toklas ที่เธอบรรยายได้ทั้งสยดสยองและบันเทิงใจ ผลงานเล่มนี้จึงเป็นข้อเขียนจากความทรงจำที่มาจากเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่บางครั้งดูไกลห่างหรือไม่สัมพันธ์ข้องเกี่ยวใดๆ กับเราผู้อ่าน แม้กระนั้น บันทึกที่กินระยะหลายทศวรรษเล่มนี้ก็สะท้อนให้เห็นพัฒนาการและฝีมือการทำอาหารของ Toklas ที่เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ

Murder in the Kitchen เป็นหนึ่งในหนังสือชุด Penguin Great Food Series ที่ทางสำนักพิมพ์ Penguin ได้คัดสรรค์ผลงานต่างยุคต่างสมัยที่เขียนเกี่ยวกับอาหารและวัฒนธรรมการกินมาตีพิมพ์นับจากยุคคลาสสิคถึงร่วมสมัย ซึ่งผู้สนใจวรรณกรรมและอาหารไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

You May Also Like
Read More

Marmalade

ถ้าพูดถึงคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ขึ้นมาในตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกภาพแยมส้ม หรือแยมเปลือกส้มขึ้นมา โดยอัตโนมัติ เรียกได้ว่าคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ที่แปลว่า ‘แยมส้ม’ นั้นกลายเป็นภาพจำและนิยามของคนปัจจุบันไปแล้ว หากแต่ว่าแยมส้มนั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘ร่างแปลง’ ของมาร์มาเลด ที่ถูกแปลงร่างเปลี่ยนความหมายไปจนมีความหมายที่แตกต่างจนสิ้นเค้าเดิม
Read More
Read More

Shio Ramen

ชินโด ราเมง เป็นร้านที่ตั้งอยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์สีเหลืองอ่อนในตรอกเล็กๆ ตรงข้ามกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หากคุณโชคดีก็จะมีคนหนึ่งหรือสองคน ยืนต่อแถวข้างหน้าคุณ แต่หากโชคร้ายแถวนั้นอาจยาวเสียจนคุณไม่มั่นใจว่าท้องจะสามารถอดทนรอให้ลิ้นของคุณรับรสอันลึกล้ำได้หรือเปล่า เพราะว่ามันอาจส่งเสียงโวยวายเสียงดังเสียจนคนข้างๆ คุณต้องเหลียวหลังมามอง
Read More
Jellied Eels
Read More

Jellied Eels

รสชาติของอังกฤษคืออะไร? หากไม่นับฟิชแอนด์ชิปส์ (Fish and Chips) พายเนื้อ (Meat Pie) ยอร์กเชอร์พุดดิ้ง (Yorkshire Pudding) ที่ยังได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นถึงปัจจุบัน ยังมีอาหารชนิดหนึ่งที่เคยเป็นตัวแทนของรสชาติแบบอังกฤษ ที่กำลังจะเลือนหายไปในปัจจุบัน อาหารที่ว่านั้นคือ เยลลีปลาไหล (Jellied Eels)
Read More
Read More

Culinary Triangle

“การใช้ไฟปรุงอาหารคือนวัตกรรมที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เช่นทุกวันนี้” โคลด เลวี-สโตรส (Claude Lévi-Strauss) เป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่อายุยืนที่สุดในโลก แม้ชื่อของเขามักจะถูกนำไปจำสลับกับกางเกงยีนส์ยี่ห้อดัง แต่สำหรับโลกวิชาการแล้วนั้น เขาคือแบรนด์ทางความคิดที่แข็งแรงและคงอยู่ข้ามศตวรรษ
Read More
Read More

Culinary Revolution

การกำเนิดขึ้นของแท่นพิมพ์ ดินปืน และเข็มทิศในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ได้นำพาความเปลี่ยนหลายอย่างมาสู่โลกของอาหาร เริ่มจากเครื่องเทศ และวัตถุดิบจากแดนไกลไม่ว่าจะเป็นอัฟริกา อินเดีย ละตินอเมริกาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอาหาร ถัดจากนั้นวิทยาการด้านการพิมพ์ทำให้ตำรับตำราอาหารเผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่องการปรุงและการทำไปทั่วทั้งยุโรป และที่สุดตำแหน่งพ่อครัวที่ไม่เคยมีบทบาทอะไร กลับเริ่มโดดเด่นขึ้นในฐานะของศิลปินผู้สร้างสรรค์จานอาหาร หนึ่งในนั้นได้แก่ มาเอสโตร มาร์ติโนแห่งโคโม (Maestro Martino of Como) พ่อครัวที่เคยทำงานในราชสำนักแห่งมิลาน ผู้เขียน Libro de arte coquinara (Book of the Art of Cooking)
Read More
Read More

Maillard Reaction

“การทำอาหารคือวิทยาศาสตร์” นี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่แพร่หลายในแวดวงอาหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าการค้นพบแนวคิดทฤษฎีสำคัญโดยมากนั้นมักไม่ค่อยถูกยอมรับในทันที อย่างผลงานของ Nicolaus Copernicus ที่เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็ต้องใช้เวลาเนิ่นนานนับเป็นร้อยปี กว่าจะเป็นที่ยอมรับในหมู่นักดาราศาสตร์และฟิสิกส์ จึงไม่แปลกอะไรที่นักเคมีและนายแพทย์ชาวฝรั่งเศส Camille-Louis Maillard จากเมืองน็องซี (Nancy) ผู้ค้นพบปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างอนุภาคน้ำตาลกับสารประกอบโปรตีนขณะได้รับความร้อน และได้เสนอความคิดนี้ต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิในปี 1912 ก็มิวายถูกมองเป็นเพียงรายงานวิจัยธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่งเท่านั้น
Read More