John Locke กับ ‘ชู้ลับ’

จอห์น ลอค (John Locke) นักปรัชญาฝ่ายประจักษ์นิยม (Empiricism) ที่เชื่อว่าความรู้ของมนุษย์นั้นมาจากประสบการณ์ จิตคนเราแรกเกิดเป็นดั่งกระดานชนวนว่างเปล่า (Tabula rasa) บทบาทสำคัญของลอคคือการเผยแพร่แนวคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคล (Private Property) และประชาธิปไตยสมัยใหม่ คนส่วนใหญ่มักจะจดเขาในฐานะนักคิดผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 17 หากมีเพียงน้อยคนจะทราบว่าลอคเป็นหนึ่งในผู้หลงใหลในการดื่มชาในระดับคลั่งไคล้หาใครเปรียบเหมือน

ชาเป็นหนึ่งในสามเครื่องดื่มที่ทรงอิทธิพลต่อทวีปยุโรปถัดจากชอคโกแลตและกาแฟ ซึ่งความแพร่หลายของเครื่องดื่มอันหลังนี้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ห้องกาแฟ (Coffee-houses) ทั่วทั้งยุโรปและกรุงลอนดอน ซึ่งความนิยมในกาแฟมาพร้อมกับการสานเสวนาในประเด็นทางความคิด สังคม ศาสนา และศิลปะ

ห้องกาแฟจึงเปรียบได้ดั่ง ‘สภากาแฟ’ ที่คนในแวดวงปัญญาชนจนถึงคนธรรมดาสามัญมักจะไปใช้เวลาอยู่ที่นั่นเพื่อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่างๆ และกิจกรรมดังกล่าวได้ถูกอธิบายโดยนักปรัชญาเยอรมัน ยือร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) ว่าเป็นปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) ที่กลายเป็นรากฐานความคิดสำคัญของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่

จอห์น ลอคก็เป็นหนึ่งในนักคิดที่ได้เคยมีประสบการณ์ในห้องกาแฟ เพียงแต่เขาหาได้โปรดปรานรสชาติของเครื่องดื่มชนิดนี้แต่อย่างใด และที่สำคัญกว่าบรรยากาศอันเต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าประชันเสียงถกเถียงกันก็สับสนวุ่นวายเกินไปสำหรับเขา โดยรวมๆ แล้ว ลอคผู้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบิดาการแห่งประชาธิปไตยสมัยใหม่ก็ไม่ได้ชอบใช้เวลาอยู่ในร้านขายกาแฟเหมือนปัญญาชนทั่วไป (ซึ่งถ้าวันหนึ่งฮาเบอร์มาสมีโอกาสได้ไปพบลอคในโลกหลังความตายก็ควรได้ไปเคลียร์กันเอง)

จวบจนกระทั่งปี ค.ศ. 1683 ที่ลอคต้องอพยพลี้ภัยไปฮอลแลนด์ จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในอังกฤษ เขาได้ลิ้มลองชา หรือ ‘Théa’ อีกครั้ง และพบว่ามันเป็นเครื่องดื่มที่ถูกจริตและมีรสชาติดีกว่าที่เขาเคยได้ดื่มที่อังกฤษเมื่อราวหนึ่งปีก่อน

ร้านจำหน่ายใบชาที่ฮอลแลนด์เป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไป มีตัวเลือกหลากหลาย และคุณภาพของใบชาที่จัดว่าสูงกว่าที่จำหน่ายในกรุงลอนดอน โดยชาที่นำเข้าทั้งหมดนั้นมาจากพ่อค้าจีนในปัตตาเวีย และจากพ่อค้าดัทช์ที่เดินทางไปญี่ปุ่นในแต่ละปี

ในปีที่ลอคค้นพบเสน่ห์ของชา ข้อถกเถียงเรื่องสรรพคุณวิเศษกำลังกลายเป็นประเด็นเผ็ดร้อนในประเทศฮอลแลนด์ เริ่มต้นจากการตีพิมพ์ผลงาน Tractat van het excellente kruyd thee (1678) ของคอร์เนลีส เดคเคอร์ (Cornelis Degger) หรือ บอนเทโก (Bontekoe) ที่นำเสนอให้เห็นถึงคุณค่านานับประการของชา ตั้งแต่คลายความง่วงเหงาหาวนอนโดยไม่ทำลายสุขภาพ ทำให้เลือดอุ่น ข้นน้อยลง (และโดยเฉพาะตัวเขาเองนั้น ชาสามารถรักษาโรคนิ่วได้) สามารถดื่มชาให้ได้ครั้งละ 8-10 แก้ว วันละ 2 เวลา

ผลงานของบอนเทได้รับการแปลและตีพิมพ์ในภาคภาษาอังกฤษชื่อว่า Treatise about the Most Excellent Herb Tea: Showing What the Right Use of it is, and its Valuable Qualities in Times of Health and Sickness นำเสนอชาแบบ ‘ยาครอบจักรวาล’ ของบอนเทโกทำให้ใครหลายคนที่ได้อ่านบังเกิดความสงสัย โดยเฉพาะบรรดาหมอในแวดวงที่ลอคสนิทชิดเชื้อด้วย ซึ่งโดยมากมักจะตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือในแหล่งข้อมูล และข้อพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ในตัวงาน กระทั่งมีบางคนถึงกับเชื่อว่าบริษัทนำเข้าชาอาจว่าจ้างบอนเทโกให้เขียนตำราเล่มนี้

ดังที่เราทราบดีว่าลอคเคยสนใจศึกษาวิชาแพทย์มาก่อนเมื่อครั้งที่พำนักอยู่ในกรุงลอนดอน การได้มาอยู่ในท่ามกลางบรรยากาศวิชาการด้านการแพทย์ทำให้เขามีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องของชาและพยายามศึกษาคุณสมบัติของเครื่องดื่มชนิดนี้ด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าข้อเขียนของบอนเทโกจะเต็มไปด้วยคำถาม แต่การค้นคว้าของเขาถือเป็นใบเบิกทางให้แก่ลอค

ในสมุดบันทึกของลอคเมื่อครั้งที่เขายังอยู่ที่ฮอลแลนด์ได้เขียนถึงวิธีการดื่มชาแบบต่างๆ ทั้งจากของบอนเทโกที่ถอดแบบมาจากกับวิธีดื่มแบบจีน ไปจนถึงวิธีการที่แปลกประหลาดของนายแพทย์ชาวฮอลแลนด์นามว่า กัสปาร์ ซิบิเลียส (Caspar Sibilius) ที่ใช้ผงจากขนมปังไหม้ผสมลงไปในน้ำร้อนก่อนนำไปชงชา รวมถึงข้อเขียนเชิงวิจัยค้นคว้าต่างๆ เกี่ยวกับชาอีกมากมายที่เรียกได้เลยว่าเพียงพอจะจัดพิมพ์เป็นหนังสือได้

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่า การอพยพลี้ภัยมาฮอลแลนด์ครั้งนี้ทำให้ลอคได้ก้าวเข้าสู่โลกของวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่และการดื่มชา ซึ่งทำให้เขาสามารถลิ้มรสเครื่องดื่มที่ถูกใจในท่ามกลางกลุ่มคนเล็กๆ ที่เขารู้จักในมุมอันสงบร่มรื่น ไม่อึกทึกวุ่นวายมากจนเกินไป

ปัจฉิมลิขิต: ภายหลังจากลอคได้เดินทางกลับไปยังกรุงลอนดอนในช่วงปี 1689 แต่ก็พบว่าชาที่นั่นก็ยังคงไม่ถูกปาก หรือไม่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้ดีขึ้นจากเมื่อก่อนหน้า เขาจึงจดหมายไปหามิตรสหายที่ฮอลแลนด์ให้ส่งชาที่ดีที่สุดจากที่นั่นมาให้ หลังจากลอคได้รับชาที่ว่ากันว่ามีความหอมกรุ่นของดอกไม้และคุณภาพเทียบเท่ากับชาราคา 48 กุลเดนต่อปอนด์ในราคาเพียง 28 กุลเดน ห้องชา (Tea-House) ก็เริ่มกลายเป็นสิ่งแพร่หลายในอังกฤษมีการพัฒนาวิธีการคัดสรรไปถึงการดื่ม (จนกระทั่งห้องกาแฟทั้งหลายต้องมีชาจำหน่าย) รุ่งอรุณแห่งชานี้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับ Essay Concerning Human Understanding (1689) ผลงานชิ้นสำคัญของลอคที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาในปีเดียวกันนั้นเอง น่าเสียดายว่า ลอคไม่เคยกล่าวถึงชาไว้ในงานชิ้นดังกล่าวเลย หรือหากจะมีก็แค่ในงานหลังมรณกรรม Of the Conduct of the Understanding (1706) ที่เขาได้กล่าวถึงสรรพคุณของชาต่อจิตใจเพียงเล็กน้อย เครื่องดื่มชาที่ลอคคลั่งไคล้ใหลหลงจึงเป็นได้เพียง ‘ชู้ลับ’ ที่เก็บซ่อนไว้หลังม่านตัวอักษรของเขา


อ้างอิง

Markman Ellis, Richard Coulton and Matthew Mauger, Empire of Tea, (London: Reaktion Books, 2015).

A Culinary History, edited by Jean-Louis Flandrin and Massimo Montanari, translated by Albert Sonnenfeld, (New York: Columbia University Press, 2013).


You May Also Like
Read More

Marmalade

ถ้าพูดถึงคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ขึ้นมาในตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกภาพแยมส้ม หรือแยมเปลือกส้มขึ้นมา โดยอัตโนมัติ เรียกได้ว่าคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ที่แปลว่า ‘แยมส้ม’ นั้นกลายเป็นภาพจำและนิยามของคนปัจจุบันไปแล้ว หากแต่ว่าแยมส้มนั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘ร่างแปลง’ ของมาร์มาเลด ที่ถูกแปลงร่างเปลี่ยนความหมายไปจนมีความหมายที่แตกต่างจนสิ้นเค้าเดิม
Read More
Read More

Shio Ramen

ชินโด ราเมง เป็นร้านที่ตั้งอยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์สีเหลืองอ่อนในตรอกเล็กๆ ตรงข้ามกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หากคุณโชคดีก็จะมีคนหนึ่งหรือสองคน ยืนต่อแถวข้างหน้าคุณ แต่หากโชคร้ายแถวนั้นอาจยาวเสียจนคุณไม่มั่นใจว่าท้องจะสามารถอดทนรอให้ลิ้นของคุณรับรสอันลึกล้ำได้หรือเปล่า เพราะว่ามันอาจส่งเสียงโวยวายเสียงดังเสียจนคนข้างๆ คุณต้องเหลียวหลังมามอง
Read More
Jellied Eels
Read More

Jellied Eels

รสชาติของอังกฤษคืออะไร? หากไม่นับฟิชแอนด์ชิปส์ (Fish and Chips) พายเนื้อ (Meat Pie) ยอร์กเชอร์พุดดิ้ง (Yorkshire Pudding) ที่ยังได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นถึงปัจจุบัน ยังมีอาหารชนิดหนึ่งที่เคยเป็นตัวแทนของรสชาติแบบอังกฤษ ที่กำลังจะเลือนหายไปในปัจจุบัน อาหารที่ว่านั้นคือ เยลลีปลาไหล (Jellied Eels)
Read More
Read More

Culinary Triangle

“การใช้ไฟปรุงอาหารคือนวัตกรรมที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เช่นทุกวันนี้” โคลด เลวี-สโตรส (Claude Lévi-Strauss) เป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่อายุยืนที่สุดในโลก แม้ชื่อของเขามักจะถูกนำไปจำสลับกับกางเกงยีนส์ยี่ห้อดัง แต่สำหรับโลกวิชาการแล้วนั้น เขาคือแบรนด์ทางความคิดที่แข็งแรงและคงอยู่ข้ามศตวรรษ
Read More
Read More

Culinary Revolution

การกำเนิดขึ้นของแท่นพิมพ์ ดินปืน และเข็มทิศในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ได้นำพาความเปลี่ยนหลายอย่างมาสู่โลกของอาหาร เริ่มจากเครื่องเทศ และวัตถุดิบจากแดนไกลไม่ว่าจะเป็นอัฟริกา อินเดีย ละตินอเมริกาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอาหาร ถัดจากนั้นวิทยาการด้านการพิมพ์ทำให้ตำรับตำราอาหารเผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่องการปรุงและการทำไปทั่วทั้งยุโรป และที่สุดตำแหน่งพ่อครัวที่ไม่เคยมีบทบาทอะไร กลับเริ่มโดดเด่นขึ้นในฐานะของศิลปินผู้สร้างสรรค์จานอาหาร หนึ่งในนั้นได้แก่ มาเอสโตร มาร์ติโนแห่งโคโม (Maestro Martino of Como) พ่อครัวที่เคยทำงานในราชสำนักแห่งมิลาน ผู้เขียน Libro de arte coquinara (Book of the Art of Cooking)
Read More
Read More

Maillard Reaction

“การทำอาหารคือวิทยาศาสตร์” นี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่แพร่หลายในแวดวงอาหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าการค้นพบแนวคิดทฤษฎีสำคัญโดยมากนั้นมักไม่ค่อยถูกยอมรับในทันที อย่างผลงานของ Nicolaus Copernicus ที่เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็ต้องใช้เวลาเนิ่นนานนับเป็นร้อยปี กว่าจะเป็นที่ยอมรับในหมู่นักดาราศาสตร์และฟิสิกส์ จึงไม่แปลกอะไรที่นักเคมีและนายแพทย์ชาวฝรั่งเศส Camille-Louis Maillard จากเมืองน็องซี (Nancy) ผู้ค้นพบปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างอนุภาคน้ำตาลกับสารประกอบโปรตีนขณะได้รับความร้อน และได้เสนอความคิดนี้ต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิในปี 1912 ก็มิวายถูกมองเป็นเพียงรายงานวิจัยธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่งเท่านั้น
Read More