Feeding a Broken Heart
ควรกินอะไรเมื่อใจสลาย

เมื่อปี 2017 ได้ปรากฏแฮชแท็ก #feedingabrokenheart ขึ้นในโลก Instagram มันเป็นเสมือนพื้นที่บำบัดซ่อมแซมจิตใจอันแตกสลายจากการสูญเสียคนรักคนใกล้ชิด (ไม่ว่าจะด้วยการจบสิ้นความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ความตาย) โดยมี ‘อาหาร’ เป็นเครื่องเยียวยาช่วยเหลือ

Feeding a Brokenheart เป็นแคมเปญมอบอาหารจานให้แก่คนใจสลาย ถือกำเนิดขึ้นภายหลังจากลินเซย์ ออสตรอม (Linsay Ostrom) ผู้ก่อตั้งเว็บอาหาร pinchofyum.com ได้สูญเสียลูกชายที่คลอดก่อนกำหนดไป ซึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันนี้ได้ทำให้เธอจมดิ่งลงไปในความเศร้าจนร่างกายลืมความหิวโหย และไร้เหลือความปรารถนาในอาหารการกินใดๆ คิดว่าผู้ที่เคยหัวใจสลายบางคนย่อมเข้าใจหรือสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของเธอไม่มากก็น้อย

ภายหลังกลับจากโรงพยาบาล มิตรสหายของลินเซย์ได้ทำอาหารจำพวกซุป ลาซานญ่าและขนมปังมาส่งให้ถึงประตูหน้าบ้าน เธอกินอาหารเหล่านั้นด้วยความซาบซึ้งใจ ก่อนจะพบว่าความห่วงใยที่มาในรูปของอาหารนั้นได้ช่วยให้เธอหลุดพ้นจากวังวนแห่งความเศร้า

จากจุดนี้เอง ลินเซย์จึงได้เริ่มแคมเปญ Feeding a Brokenheart ขึ้นมา โดยมีกติกาง่ายๆ ที่เริ่มต้นจากเฟ้นหาคนที่จิตใจแตกสลาย แล้วทำอาหาร ขนม หรือสิ่งที่คุณคิดว่าเขา/เธอต้องชอบ แล้วนำไปส่งให้ หากทำไม่ได้ไม่ว่าข้อจำกัดใดๆ ก็อาจเป็นเพียงช็อกโกแลตสักแท่ง บัตรรับประทานอาหาร หรือสิ่งที่คุณคิดว่าถ้าเขา/เธอได้ลิ้มลองแล้วน่าจะชอบ จากนั้นคุณก็ถ่ายรูปอาหาร แบ่งปันสูตร บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ รวมถึงสิ่งที่คุณทำพร้อมติดแฮชแท็ก #feedingabrokenheart

แคมเปญนี้ดูเหมือนจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และยังมีคนอีกไม่น้อยที่ร่วมทำอาหารเยียวยาคนจิตใจแตกสลายและแบ่งปันเรื่องราวจนถึงทุกวันนี้

เพียงแต่ถ้าไม่มีใครทำอาหารให้ หรือชวนเราออกไปกิน เราก็คงต้องดูแลและเยียวยาจิตใจตัวเอง บทความสั้นๆ นี้ช่วยรวบรวมวิธีการที่ใช้อาหารบำบัดจิตใจ ซึ่งอาจเริ่มต้นด้วยวิธีการง่ายๆ ตั้งแต่

1. ทานอาหารที่ปลุกความทรงจำในยามที่คุณมีความสุข ซึ่งรวมไปถึงขนมที่คุณชอบกิน แต่ไม่มีโอกาสได้กิน หรือนานมากแล้วที่ไม่ได้กิน ค้นหาอาหารจานที่ว่าให้พบแล้วมีความสุขกับมันโดยไม่ต้องรู้สึกผิด อาจเป็นขนมขบเคี้ยวที่คุณอนุญาตให้ตัวเองกินได้เพื่อฟื้นฟูจิตใจ

2. สำหรับบางคนที่ยังไม่พร้อมที่จะกินอาหาร การมีเครื่องดื่มที่ให้พลังงานและมีโปรตีนสูง เช่น นม น้ำเต้าหู้ โยเกิร์ตพร้อมดื่มที่มี Tryptophan ซึ่งเป็นกรดอะมิโน (amino acids) สำคัญในการสร้างเซโรโทนิน (Serotonin) สารสื่อประสาท (monoamine neurotransmitter) ที่ช่วย ควบคุมอารมณ์ เซโรโทนินเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสารเคมีแห่งความสุข (feel good chemical) ที่ร่างกายผลิตได้ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ เซโรโทนินยังดูแลการทำงานของร่างกายที่สำคัญ เช่นระบบการย่อยอาหาร ระบบการไหลเวียนของเลือด และยังเปลี่ยนเป็นเมลาโทนิน (Melatonin) ช่วยให้เรานอนหลับได้แม้ใจไม่พร้อม ประคองร่างกายให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี

3. ช็อกโกแลตขมๆ ช่วยบำบัดความขมในใจได้ เป็นที่ยอมรับกันว่าช็อกโกแลตนั้นช่วยเพิ่มทั้งเซโรโทนินและโดปามีน (Dopamine) เนื่องจากในช็อกโกแลตมีส่วนประกอบสำคัญอย่าง สารไทรามีน (Tryamine) ที่มาจากกรดอะมิโนไทโรซีน (Tyrosine) ซึ่งควบคุมปริมาณของสารสื่อสารประสาทอย่างโดปามีน เมื่อร่างกายได้รับไทโรซีนมากขึ้น ระดับโดปามีนก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย สารสื่อประสาทโดปามีนทำหน้าที่กระตุ้นสมองส่วนที่ให้รางวัล (reward center) จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเมื่อเราได้กัดช็อกโกแลตคำโต เราจึงรู้สึกมีความสุข และสนุกขึ้นทันที

4. การทำอาหารมื้อง่ายๆ ช่วยคลายเครียดได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญกิจกรรมนี้ยังช่วยให้คุณได้ออกกำลังกายและเปลี่ยนบรรยากาศโดยทางอ้อม การได้ออกจากห้องหรือสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ในชั่วระยะนึง เพื่อเดินซื้อหาวัตถุดิบ จ่ายตลาดสำหรับทำอาหารหรือแม้แต่ค้นหาเมนูที่อยากทดลองปรุงด้วยตนเองช่วยให้คุณโฟกัสกับปัจจุบันของคุณได้

5. แชร์มื้ออาหารกับเพื่อนและคนอื่นๆ นอกเหนือจากอาหารที่อร่อยขึ้นแล้ว การได้ร่วมรับประทานกับคนอื่นก็ถือเป็นสิ่งที่ทำให้อาหารจานธรรมดาพิเศษขึ้นมาได้ การทานอาหารร่วมกัน นอกจากจะแบ่งปันความอร่อยแล้ว ยังแบ่งปันความรู้สึก และความห่วงใยที่มีต่อกันอีกด้วย

อย่าลืมว่าชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารฉันใด หัวใจที่สลายก็ต้องการอาหารเยียวยาฉันนั้น

อาหารจานไหนที่ช่วยคุณไว้ในยามใจสลาย แบ่งปันประสบการณ์ แชร์ภาพเมนูดีตีต่อใจใต้คอมเม้นต์ พร้อมติดแฮชแท็ก #feedingabrokenheart #เมนูดีต่อใจ ใครจะรู้ เมนูของคุณอาจช่วยใจใครบางคนอยู่ก็ได้


อ้างอิง

Carhart-Harris R, Nutt D. Serotonin and brain function: A tale of two receptors. J Psychopharmacol. 2017;31(9):1091-1120. doi:10.1177/0269881117725915

Jenkins TA, Nguyen JC, Polglaze KE, Bertrand PP. Influence of tryptophan and serotonin on mood and cognition with a possible role of the gut-brain axis. Nutrients. 2016;8(1):56. doi:10.3390/nu8010056

Ostrom, Lindsay (2011) Pinch of Yum, Feeding Brokenheart. https://pinchofyum.com/feeding-broken-heart

Roizman, T. (2018, June 11). Chocolate & Dopamine. Retrieved from https://healthyeating.sfgate.com/chocolate-dopamine-3660.html


You May Also Like
Read More

Marmalade

ถ้าพูดถึงคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ขึ้นมาในตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกภาพแยมส้ม หรือแยมเปลือกส้มขึ้นมา โดยอัตโนมัติ เรียกได้ว่าคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ที่แปลว่า ‘แยมส้ม’ นั้นกลายเป็นภาพจำและนิยามของคนปัจจุบันไปแล้ว หากแต่ว่าแยมส้มนั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘ร่างแปลง’ ของมาร์มาเลด ที่ถูกแปลงร่างเปลี่ยนความหมายไปจนมีความหมายที่แตกต่างจนสิ้นเค้าเดิม
Read More
Read More

Shio Ramen

ชินโด ราเมง เป็นร้านที่ตั้งอยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์สีเหลืองอ่อนในตรอกเล็กๆ ตรงข้ามกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หากคุณโชคดีก็จะมีคนหนึ่งหรือสองคน ยืนต่อแถวข้างหน้าคุณ แต่หากโชคร้ายแถวนั้นอาจยาวเสียจนคุณไม่มั่นใจว่าท้องจะสามารถอดทนรอให้ลิ้นของคุณรับรสอันลึกล้ำได้หรือเปล่า เพราะว่ามันอาจส่งเสียงโวยวายเสียงดังเสียจนคนข้างๆ คุณต้องเหลียวหลังมามอง
Read More
Jellied Eels
Read More

Jellied Eels

รสชาติของอังกฤษคืออะไร? หากไม่นับฟิชแอนด์ชิปส์ (Fish and Chips) พายเนื้อ (Meat Pie) ยอร์กเชอร์พุดดิ้ง (Yorkshire Pudding) ที่ยังได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นถึงปัจจุบัน ยังมีอาหารชนิดหนึ่งที่เคยเป็นตัวแทนของรสชาติแบบอังกฤษ ที่กำลังจะเลือนหายไปในปัจจุบัน อาหารที่ว่านั้นคือ เยลลีปลาไหล (Jellied Eels)
Read More
Read More

Culinary Triangle

“การใช้ไฟปรุงอาหารคือนวัตกรรมที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เช่นทุกวันนี้” โคลด เลวี-สโตรส (Claude Lévi-Strauss) เป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่อายุยืนที่สุดในโลก แม้ชื่อของเขามักจะถูกนำไปจำสลับกับกางเกงยีนส์ยี่ห้อดัง แต่สำหรับโลกวิชาการแล้วนั้น เขาคือแบรนด์ทางความคิดที่แข็งแรงและคงอยู่ข้ามศตวรรษ
Read More
Read More

Culinary Revolution

การกำเนิดขึ้นของแท่นพิมพ์ ดินปืน และเข็มทิศในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ได้นำพาความเปลี่ยนหลายอย่างมาสู่โลกของอาหาร เริ่มจากเครื่องเทศ และวัตถุดิบจากแดนไกลไม่ว่าจะเป็นอัฟริกา อินเดีย ละตินอเมริกาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอาหาร ถัดจากนั้นวิทยาการด้านการพิมพ์ทำให้ตำรับตำราอาหารเผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่องการปรุงและการทำไปทั่วทั้งยุโรป และที่สุดตำแหน่งพ่อครัวที่ไม่เคยมีบทบาทอะไร กลับเริ่มโดดเด่นขึ้นในฐานะของศิลปินผู้สร้างสรรค์จานอาหาร หนึ่งในนั้นได้แก่ มาเอสโตร มาร์ติโนแห่งโคโม (Maestro Martino of Como) พ่อครัวที่เคยทำงานในราชสำนักแห่งมิลาน ผู้เขียน Libro de arte coquinara (Book of the Art of Cooking)
Read More
Read More

Maillard Reaction

“การทำอาหารคือวิทยาศาสตร์” นี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่แพร่หลายในแวดวงอาหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าการค้นพบแนวคิดทฤษฎีสำคัญโดยมากนั้นมักไม่ค่อยถูกยอมรับในทันที อย่างผลงานของ Nicolaus Copernicus ที่เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็ต้องใช้เวลาเนิ่นนานนับเป็นร้อยปี กว่าจะเป็นที่ยอมรับในหมู่นักดาราศาสตร์และฟิสิกส์ จึงไม่แปลกอะไรที่นักเคมีและนายแพทย์ชาวฝรั่งเศส Camille-Louis Maillard จากเมืองน็องซี (Nancy) ผู้ค้นพบปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างอนุภาคน้ำตาลกับสารประกอบโปรตีนขณะได้รับความร้อน และได้เสนอความคิดนี้ต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิในปี 1912 ก็มิวายถูกมองเป็นเพียงรายงานวิจัยธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่งเท่านั้น
Read More