เมนูเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในยุคกลาง

แม้เทศกาลคริสต์มาสจะถูกอธิบายโดยนักประวัติศาสตร์สังคมจำนวนหนึ่งว่าเป็นประเพณีประดิษฐ์ใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยเริ่มต้นจากบรรดาชนชั้นสูงและชนชั้นกลางของยุโรปที่รื้อฟื้นการเฉลิมฉลองนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องปลอบประโลมจิตใจจากความผันผวนเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และแม้แต่สงคราม หรือเป็นการปฏิวัติแบบย่นย่อ (Expressive Revolution) ตามกรอบอธิบายของชาร์ลส์ เทเลอร์ (Charles Taylor) นักปรัชญาแคนาดาที่มองว่าเทศกาลนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสจนมาถึงการสถาปนาตนของจักรพรรดินโปเลียน

คริสต์มาสจึงถูกเชื่อว่าเป็นห้วงเวลาเดียวของปีที่โลกบังเกิดความสันติสุข (ดังเช่น มีการประกาศหยุดยิงชั่วคราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1) และเต็มไปด้วยบรรยากาศอันอบอุ่นสวยงามที่มนุษย์รู้จักหยิบยื่นแบ่งบัน สมาชิกในครอบครัวได้อยู่โดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งข้อหลังนี้ถือเป็นคุณค่าสำคัญสำหรับชนชั้นกลาง

ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นนี้เองได้ทำให้เทศกาลคริสต์มาสกลายหนึ่งในห้วงเวลาแห่งการบริโภคและจับจ่าย กล่าวกันว่าในประเทศอังกฤษใช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ต้องมีโครงการกู้ยืมสำหรับพนักงานและคนงานเหมืองเพื่อนำไปใช้สำหรับเทศกาลนี้ เพราะเป็นห้วงเวลาเดียวของปีที่คนยากจนจะได้มีโอกาสกินดื่มและเฉลิมฉลองได้อย่างคนมีฐานะ และได้กลายเป็นประเด็นที่ได้ถูกกล่าวถึงไว้ในนวนิยาย The Citadel (1935) ของ A.J. Cronin ที่ได้เล่าถึงตัวละครเอกที่เดินทางไปรักษาครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่อนาถา ในช่วงคริสต์มาส และได้เห็นต้นไม้ประดับที่ควรจะเป็นต้นสนใบสีเขียวสดกลับเป็นเพียงกิ่งไม้มีเทียนไขจุดไฟ อาหารบนโต๊ะที่แลดูจำกัดจำเขี่ยมากๆ

ถึงแม้ประเพณีคริสต์มาสจะเป็นประดิษฐกรรมทางสังคม หรือแม้แต่แผนการตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภค แต่รูปแบบของการเฉลิมฉลอง การกินดื่ม และร้องเพลงอย่างสนุกสนานนั้นถือได้ว่ามีต้นแบบมาจากยุคกลาง (Medieval Age) หรือตั้งแต่ที่ชาวโรมันเข้าเชื่อคริสต์ศาสนา เมื่อราว 500 ปีแรกของคริสตกาล และได้ผสานรวมพิธีเฉลิมฉลองเฉลิมฉลอง Saturnalia ให้แก่เทพแซทเทิร์น (Saturn) หรือเทพโครโนส (Kronos) ที่เป็นการกินเลี้ยงกันอย่างเต็มที่หลายคืนติดต่อกัน (โดยในงานจะมีการกลับบทบาทคนจนให้ได้นั่งกินดื่มอย่างคนรวย ส่วนคนรวยแต่งกายเป็นยาจกหรือขอทาน) เข้ากับงานเลี้ยงวันประสูติพระเยซู ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบของการเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่เรารู้จัก

แน่นอนว่า อาหารการกินที่แพร่หลายในยุคกลางนั้นมีความพิสดารและแตกต่างไปจากที่เราในปัจจุบันมากพอสมควร อาทิ หงส์ หรือนกยูงอบที่เป็นอาหารของชนชั้นสูงและผู้มีอันจะกินทั้งหลาย เพราะยุคกลางยังไม่มีการเพาะเลี้ยงไก่งวง ดังนั้นสัตว์ปีกที่ถูกนำมาบริโภคในช่วงเทศกาลจึงเป็นสัตว์ที่ถูกล่ามาเพื่อเป็นอาหาร เพียงแต่เนื้อสัมผัสและรสชาติของสัตว์ปีกเหล่านี้มีลักษณะแตกต่างกันไป ว่ากันว่าเนื้อของหงส์มีรสชาติดีที่สุด แต่ก็เป็นสัตว์ที่สงวนไว้สำหรับกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ส่วนนกยูงแม้จะมีรสชาติอร่อยกว่านกป่าอื่นๆ แต่ก็ต้องเป็นนกยูงวัยกระทง เพื่อไม่ให้เนื้อเหนียวเกินไป สำหรับอาหารจานนกยูงนั้นนิยมตกแต่งโดยการนำขนนกยูงมาประดับให้แลดูเหมือนว่านกตัวนั้นยังมีชีวิตอยู่ บางบ้านที่ไม่ชอบเนื้อนกยูงจะใช้ห่านสอดไส้ไว้ใต้ขนนกยูง

จานต่อมาแทบไม่มีให้เห็นอีกแล้วในปัจจุบันคือ พายเนื้อสับ (Mince Pie) หรือ คริสต์มาสพาย (Christmas Pie) ด้วยเพราะอาหารจานนี้มีความแปลกตรงที่มันถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระเยซูคริสต์เมื่อคราวประสูติ แป้งพายจะถูกนำไปใส่ในพิมพ์รูปวงรีให้ดูคล้ายตะกร้าผ้า หรือเปลนอน โดยไส้ของพายทำจากเศษเนื้อชนิดต่างๆ ที่ชาวบ้านเก็บสะสมไว้ตั้งแต่เมื่อต้นฤดูหนาว ซึ่งก็มีตั้งแต่เนื้อวัว เนื้อแกะไปจนถึงสัตว์ปีกต่างๆ ผสมรวมเข้ากับไขมันสัตว์ ผลไม้แห้ง ถั่ว และเครื่องเทศ ส่วนที่พิเศษและอาจเรียกได้ว่าพิเรนทร์ก็คงตรงแผ่นแป้งปิดหน้านั้นจะปั้นเป็นรูปทารกเยซู (Baby Jesus) การกินพายชนิดนี้จะไม่ใช้มีด แต่จะใช้ช้อน หรือมือในการแบ่ง โดยเด็กหรือผู้มีอายุน้อยที่สุดในบ้านจะเป็นผู้รับประทานเป็นชิ้นแรก ‘พายเนื้อสับ’ หรือ ‘คริสต์มาสพาย’ เสื่อมความนิยมไปในศตวรรษที่ 17 จากการถูกมองว่าเป็น ‘ความไม่เหมาะสม’

อีกจานเป็นอาหารที่เรียกว่าสุดจะจินตนาการยิ่งกว่านั่นก็คือ หัวหมูป่าย่าง (Boar’s Head) ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่างานฉลองคริสต์มาสนั้นเป็นการผสมผสานประเพณีปฏิบัติของกลุ่มคนนอกศาสนา (Paganism) เข้ากับคริสต์ศาสนา ดังนั้นหัวหมู่ป่าที่แต่เดิมเป็นเครื่องถวายเทพเจ้าเฟรย์ (Frey) ของชาวยุโรปเหนือ หรือพวกไวกิ้งจึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในอาหารที่ปรากฏในเทศกาลคริสต์มาสแบบยุคกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon) หรือเกาะอังกฤษที่รับเอาอารยธรรมดังกล่าวนี้มา ในขณะที่มีตำนานเล่าว่า หัวหมูป่าย่างเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศอังกฤษครั้งแรกๆ จากเหตุการณ์ที่บัณฑิตแห่งออกซ์ฟอร์ดคนหนึ่งเตร็ดเตร่ไปในป่า มือข้างหนึ่งของเขามีตำราปรัชญาของอริสโตเติล (Aristotle) ระหว่างกำลังเดินทอดน่องอยู่นั้น หมูป่าตัวหนึ่งก็วิ่งเข้ามาจู่โจม บัณฑิตหนุ่มจึงใช้ตำราเล่มหนาเป็นอาวุธต่อกร โดยยัดมันเข้าไปในปากก่อนจะสามารถกำราบหมูป่าได้เป็นผลสำเร็จ ชาวบ้านจึงนำหัวหมูป่ามาทำอาหารเพื่อเฉลิมฉลองให้กับความกล้าหาญของบัณฑิตคนนั้น

อาหารอีกจานที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะนับว่าเป็นต้นแบบของคริสต์มาสพุดดิ้ง (Christmas Pudding) ที่เป็นของหวานอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาลคริสต์มาส เพียงแต่ต้นแบบนี้ไม่นับว่าเป็นของหวาน เพราะมันคือพลัมพอริดจ์ (Plum Porridge) ที่เป็นการนำเอาธัญพืช ไขมันสัตว์ เนื้อสัตว์ ถั่ว ผลไม้แห้งและเครื่องเทศมาผสมรวมกัน เป็นหนึ่งในอาหารก่อนอาหารจานหลักเพื่อปรับสภาพท้อง รสชาติของอาหารจานนี้มีรสหวานนำและหอมเครื่องเทศ ซึ่งเริ่มปรากฏในช่วงศตวรรษที่ 13 หรือภายหลังจากผลไม้แห้งจากตะวันออกกลางได้กระจายตัวไปสู่ยุโรปไปแล้ว พลัมพอริดจ์ถูกเรียกว่า ทเวล์ฟไนท์เค้ก (Twelfth Night Cake) เพราะเป็นอาหารที่ทำแจกสำหรับคนที่มาช่วยเก็บข้าวของเครื่องประดับงานคริสต์มาสในวันที่ 6 มกราคม หรือภายหลังจากวันประสูตพระเยซู 12 วัน เพราะไม่เอาออกก็เชื่อกันว่าจะเป็นปีที่โชคร้ายสำหรับเจ้าบ้าน

แม้คริสต์มาสในยุคกลางจะมีลักษณะที่แตกต่างจากยุคใหม่ หรือโลกปัจจุบันที่มีอาหารและทางเลือกในการจับจ่ายบริโภคพร้อมสรรพ แต่ถ้าลองเปรียบเทียบว่า เพื่อจะมีกินอย่างอิ่มหนำสำราญในช่วงฤดูหนาวที่แสนทารุณโหดร้าย ชาวนา-สามัญชนทั้งหลายต้องทำงานและเก็บสะสมอาหารเรื่อยมา ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนของคนจำนวนมากในปัจจุบันที่ต้องทำงานเก็บเงินทั้งปีเพื่อเงินจับจ่ายในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองนี้


อ้างอิง

Sophie Jackson, The Medieval Christmas (Gloucestershire: The History Press, 2013).

Joe Perry, Christmas in Germany: A Cultural History, (North Carolina: The University of North Carolina Press, 2010).


You May Also Like
Read More

Marmalade

ถ้าพูดถึงคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ขึ้นมาในตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกภาพแยมส้ม หรือแยมเปลือกส้มขึ้นมา โดยอัตโนมัติ เรียกได้ว่าคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ที่แปลว่า ‘แยมส้ม’ นั้นกลายเป็นภาพจำและนิยามของคนปัจจุบันไปแล้ว หากแต่ว่าแยมส้มนั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘ร่างแปลง’ ของมาร์มาเลด ที่ถูกแปลงร่างเปลี่ยนความหมายไปจนมีความหมายที่แตกต่างจนสิ้นเค้าเดิม
Read More
Read More

Shio Ramen

ชินโด ราเมง เป็นร้านที่ตั้งอยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์สีเหลืองอ่อนในตรอกเล็กๆ ตรงข้ามกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หากคุณโชคดีก็จะมีคนหนึ่งหรือสองคน ยืนต่อแถวข้างหน้าคุณ แต่หากโชคร้ายแถวนั้นอาจยาวเสียจนคุณไม่มั่นใจว่าท้องจะสามารถอดทนรอให้ลิ้นของคุณรับรสอันลึกล้ำได้หรือเปล่า เพราะว่ามันอาจส่งเสียงโวยวายเสียงดังเสียจนคนข้างๆ คุณต้องเหลียวหลังมามอง
Read More
Jellied Eels
Read More

Jellied Eels

รสชาติของอังกฤษคืออะไร? หากไม่นับฟิชแอนด์ชิปส์ (Fish and Chips) พายเนื้อ (Meat Pie) ยอร์กเชอร์พุดดิ้ง (Yorkshire Pudding) ที่ยังได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นถึงปัจจุบัน ยังมีอาหารชนิดหนึ่งที่เคยเป็นตัวแทนของรสชาติแบบอังกฤษ ที่กำลังจะเลือนหายไปในปัจจุบัน อาหารที่ว่านั้นคือ เยลลีปลาไหล (Jellied Eels)
Read More
Read More

Culinary Triangle

“การใช้ไฟปรุงอาหารคือนวัตกรรมที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เช่นทุกวันนี้” โคลด เลวี-สโตรส (Claude Lévi-Strauss) เป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่อายุยืนที่สุดในโลก แม้ชื่อของเขามักจะถูกนำไปจำสลับกับกางเกงยีนส์ยี่ห้อดัง แต่สำหรับโลกวิชาการแล้วนั้น เขาคือแบรนด์ทางความคิดที่แข็งแรงและคงอยู่ข้ามศตวรรษ
Read More
Read More

Culinary Revolution

การกำเนิดขึ้นของแท่นพิมพ์ ดินปืน และเข็มทิศในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ได้นำพาความเปลี่ยนหลายอย่างมาสู่โลกของอาหาร เริ่มจากเครื่องเทศ และวัตถุดิบจากแดนไกลไม่ว่าจะเป็นอัฟริกา อินเดีย ละตินอเมริกาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอาหาร ถัดจากนั้นวิทยาการด้านการพิมพ์ทำให้ตำรับตำราอาหารเผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่องการปรุงและการทำไปทั่วทั้งยุโรป และที่สุดตำแหน่งพ่อครัวที่ไม่เคยมีบทบาทอะไร กลับเริ่มโดดเด่นขึ้นในฐานะของศิลปินผู้สร้างสรรค์จานอาหาร หนึ่งในนั้นได้แก่ มาเอสโตร มาร์ติโนแห่งโคโม (Maestro Martino of Como) พ่อครัวที่เคยทำงานในราชสำนักแห่งมิลาน ผู้เขียน Libro de arte coquinara (Book of the Art of Cooking)
Read More
Read More

Maillard Reaction

“การทำอาหารคือวิทยาศาสตร์” นี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่แพร่หลายในแวดวงอาหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าการค้นพบแนวคิดทฤษฎีสำคัญโดยมากนั้นมักไม่ค่อยถูกยอมรับในทันที อย่างผลงานของ Nicolaus Copernicus ที่เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็ต้องใช้เวลาเนิ่นนานนับเป็นร้อยปี กว่าจะเป็นที่ยอมรับในหมู่นักดาราศาสตร์และฟิสิกส์ จึงไม่แปลกอะไรที่นักเคมีและนายแพทย์ชาวฝรั่งเศส Camille-Louis Maillard จากเมืองน็องซี (Nancy) ผู้ค้นพบปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างอนุภาคน้ำตาลกับสารประกอบโปรตีนขณะได้รับความร้อน และได้เสนอความคิดนี้ต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิในปี 1912 ก็มิวายถูกมองเป็นเพียงรายงานวิจัยธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่งเท่านั้น
Read More