เรื่องเล่าของตะเกียบ

“Another function of the two chopsticks together, that of pinching the fragment of food; to pinch, moreover, is too strong a word, too aggressive; for the foodstuff never undergoes a pressure greater than is precisely necessary to raise and carry it; in the gesture of chopsticks, further softened by their substance – wood or lacquer – there is something maternal, the same precisely measured care taken in moving a child: a force no longer a pulsion; here we have a whole demeanor with regard to food . . . the instrument never pierces, cuts, or slits, never wounds but only selects, turns, shifts.”

Roland Barthes, Empire of Signs

เมื่อต้นปี 2019 โฆษณาของ Dolce & Gabbana (ที่ออกฉายเมื่อปลายปี 2018) ได้กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวขึ้นมาจากการที่ Zuo Ye นางแบบในโฆษณาชิ้นนี้ได้ใช้ ‘ตะเกียบ’ กินพิซซ่าด้วยท่าทางเงอะงะแลดูน่าขบขันจนผู้รับชมและรัฐบาลจีนเห็นต้องตรงกันว่าโฆษณาตัวนี้มีนัยยะของการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) กระทั่งลุกลามบานปลายไปสู่การบอยคอทสินค้าภายใต้แบรนด์ D&G ในจีน

การกินอาหารชาติตะวันตกด้วย ‘ตะเกียบ’ ถูกมองว่าเป็นความไม่รู้ประสีประสาของคนกิน หรือไม่พยายามปรับตัวและเรียนรู้วัฒนธรรมของชาติอื่น ซึ่งให้บังเอิญว่าบุคคลนั้นเป็นคนจีนก็เลยทำให้การกินนี้ทำลายภาพลักษณ์ของความเป็นจีน

หากเราเปลี่ยนตัวนางแบบให้เป็นชนชาติอื่นๆ ที่ใช้ ‘ตะเกียบ’ เป็นอุปกรณ์พื้นฐานในชีวิตประจำวันอย่างญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ความเหยียดชาติพันธุ์นี้ก็อาจไม่รุนแรงมากเท่า เพราะสำหรับชาวจีนแล้ว ‘ตะเกียบ’ หรือ 箸 เป็นมากกว่าอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารธรรมดาๆ เพราะมันเป็นผลิตผลทางวัฒนธรรมที่สามารถสืบย้อนไปไกลได้จนถึงยุคหินใหม่ (Neolithic) หรือช่วง 6600-5500 ก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว

จากเดิมเราเชื่อกันว่า ชาวจีนรู้จักการใช้ตะเกียบครั้งแรกในราชวงศ์ชาง (Shang dynasty) หรือในช่วง 1600-1046 ปีก่อนคริสตกาล เพียงแต่การค้นพบเครื่องมือทำจากกระดูกที่มณฑลเจียงซูได้สร้างสมมติฐานใหม่ขึ้นมา ว่าบรรพบุรุษของชาวจีนอาจรู้จักการใช้ตะเกียบมานานก่อนหน้านั้น

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 1993 กลุ่มนักโบราณคดีจากสถาบันโบราณคดีศึกษาแห่งบัณฑิตสภาสังคมศาสตร์ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่หลงกุยจวง (ปัจจุบันคือมณฑลเจียงซู) โดยคณะทำงานได้ขุดค้นลงไปพบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งทำจากกระดูกกว่า 2,000 ชิ้น และหนึ่งในนั้นก็คือแท่งกระดูกที่มีความยาว 9.2-18.5 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3-0.9 เซนติเมตร ตรงกลางมีเส้นรอบวงที่หนา ปลายข้างหนึ่งเป็นเหลี่ยม ปลายข้างหนึ่งแหลม แลดูคล้ายคลึงกับตะเกียบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

แน่นอนว่านักโบราณคดีส่วนหนึ่งเชื่อว่ามันอาจเป็น ‘ปิ่นปักผม’ มากกว่าจะเป็น ‘ตะเกียบ’ อย่างไรก็ตาม Liu Yun บรรณาธิการ หนังสือ A History of Chopsticks Culture in China กลับเห็นว่า แท่งกระดูกนี้น่าจะเป็นตะเกียบ ด้วยเหตุผลว่า แท่งวัตถุที่พบใกล้กับกะโหลกจะมีขนาดยาวสั้นแตกต่างกันไป ส่วนชิ้นที่ตกอยู่ข้างๆ หรือรอบๆ โครงกระดูกส่วนลำตัวจะมีขนาดเท่าๆ กัน และมักจะพบเป็นคู่ ซึ่งพอทำให้อนุมานได้ว่ากระดูกชนิดนี้อาจเป็นเครื่องมือมากกว่าเป็นเครื่องประดับ

สิ่งหนึ่งที่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์น่าจะเห็นพ้องต้องกันก็คือแรกเริ่มนั้น ‘ตะเกียบ’ ไม่ได้เป็นเครื่องที่ ‘ใช้กิน’ แต่เป็นอุปกรณ์ ‘ใช้ทำ’ หรือ ‘ตระเตรียม’ อาหาร

การใช้ตะเกียบคีบอาหารเข้าปากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง และอาจเป็นรัชสมัยสุดท้ายของราชวงศ์ชาง ซึ่งกล่าวกันว่า ฉูฮ่องเต้ (King Zhou) เป็นผู้หนึ่งที่นิยมใช้ตะเกียบทำจากงาช้าคีบอาหารเข้าปาก ดังที่หานเฟยซี (Han Feizi) ปราชญ์ชาวจีนผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาลได้บันทึกเอาไว้ว่า

“ฉูฮ่องเต้ผู้ชรารับสั่งให้สร้างตะเกียบจากงาช้าง อุปราชจี้เกิดประหวั่นด้วยความคิดว่า ‘งาช้างนั้นมิควรจะใช้กับเครื่องถ้วยดินเผา แต่ควรจะเป็นเครื่องถ้วยหยกหรือทำจากนอแรด แต่ถึงอย่างนั้นเครื่องถ้วยหยกและตะเกียบงาช้างย่อมไม่เข้ากับโจ๊กที่ทำจากถั่วหรือผักใบเขียว แต่ควรจะเป็นเนื้อสัตว์จำพวกควายขนยาวและลูกเสือดาวในครรภ์ แต่อีกนั่นแหละการกินเนื้อควายขนยาวและลูกเสือดาวนั้น ก็ไม่ควรกินในฉลองพระองค์ที่ทำจากใยปอและตำหนักที่มีมุงหลังคาด้วยแฝก แต่ควรจะเป็นในฉลองพระองค์ปักดิ้นเก้าชั้นและย้ายไปในพระราชวังที่วิจิตรงดงามบนพื้นระเบียงที่กว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเพราะกลัวในตอนจบ ข้าพระองค์จึงไม่อาจหักห้ามอาการสั่นจากความหวั่นหวาดในตอนเริ่ม’

“ภายหลังจากนั้นเพียงห้าปี ฉูฮ่องเตได้รับสั่งให้หาเนื้อทั้งหลายมาวางเรียงรายในรูปของสวนดอกไม้ ตั้งเสาไฟสำหรับย่าง เนรมิตรสารพัดเตากลั่นเหล้า ทอดพระเนตรไปยังสระน้ำที่ทำจากเหล้าองุ่น นี่คือวาระสุดท้ายของพระองค์ จากตะเกียบงาช้าง อุปราชจี้แลเห็นถึงหายนะที่ถูกลิขิตไว้ในกาลข้างหน้า เขาจึงกล่าวขึ้นว่า ‘ผู้ใดสามารถแลเห็นสิ่งที่เล็กที่สุด ผู้นั้นย่อมค้นพบการหยั่งรู้’”

เราอาจตีความเสี้ยวหนึ่งของตำนานนี้ได้ว่า ตะเกียบงาช้างนั้นอาจหมายถึงความหรูหราและฟุ่มเฟือยอย่างถึงที่สุด และในมุมมองของหานเฟยซีนั้นก็คือจุดเริ่มต้นของจุดจบของราชวงศ์ชาง ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่การกินอาหารด้วยตะเกียบเริ่มแพร่หลายไปสู่คนธรรมดาสามัญเป็นครั้งแรกๆ


อ้างอิง

Q. Edward Yang, Chopsticks: A Cultural and Culinary History, (Cambridge: Cambridge University Press, 2015)


You May Also Like
Read More

Marmalade

ถ้าพูดถึงคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ขึ้นมาในตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกภาพแยมส้ม หรือแยมเปลือกส้มขึ้นมา โดยอัตโนมัติ เรียกได้ว่าคำว่า ‘มาร์มาเลด’ ที่แปลว่า ‘แยมส้ม’ นั้นกลายเป็นภาพจำและนิยามของคนปัจจุบันไปแล้ว หากแต่ว่าแยมส้มนั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘ร่างแปลง’ ของมาร์มาเลด ที่ถูกแปลงร่างเปลี่ยนความหมายไปจนมีความหมายที่แตกต่างจนสิ้นเค้าเดิม
Read More
Read More

Shio Ramen

ชินโด ราเมง เป็นร้านที่ตั้งอยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์สีเหลืองอ่อนในตรอกเล็กๆ ตรงข้ามกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หากคุณโชคดีก็จะมีคนหนึ่งหรือสองคน ยืนต่อแถวข้างหน้าคุณ แต่หากโชคร้ายแถวนั้นอาจยาวเสียจนคุณไม่มั่นใจว่าท้องจะสามารถอดทนรอให้ลิ้นของคุณรับรสอันลึกล้ำได้หรือเปล่า เพราะว่ามันอาจส่งเสียงโวยวายเสียงดังเสียจนคนข้างๆ คุณต้องเหลียวหลังมามอง
Read More
Jellied Eels
Read More

Jellied Eels

รสชาติของอังกฤษคืออะไร? หากไม่นับฟิชแอนด์ชิปส์ (Fish and Chips) พายเนื้อ (Meat Pie) ยอร์กเชอร์พุดดิ้ง (Yorkshire Pudding) ที่ยังได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นถึงปัจจุบัน ยังมีอาหารชนิดหนึ่งที่เคยเป็นตัวแทนของรสชาติแบบอังกฤษ ที่กำลังจะเลือนหายไปในปัจจุบัน อาหารที่ว่านั้นคือ เยลลีปลาไหล (Jellied Eels)
Read More
Read More

Culinary Triangle

“การใช้ไฟปรุงอาหารคือนวัตกรรมที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เช่นทุกวันนี้” โคลด เลวี-สโตรส (Claude Lévi-Strauss) เป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่อายุยืนที่สุดในโลก แม้ชื่อของเขามักจะถูกนำไปจำสลับกับกางเกงยีนส์ยี่ห้อดัง แต่สำหรับโลกวิชาการแล้วนั้น เขาคือแบรนด์ทางความคิดที่แข็งแรงและคงอยู่ข้ามศตวรรษ
Read More
Read More

Culinary Revolution

การกำเนิดขึ้นของแท่นพิมพ์ ดินปืน และเข็มทิศในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ได้นำพาความเปลี่ยนหลายอย่างมาสู่โลกของอาหาร เริ่มจากเครื่องเทศ และวัตถุดิบจากแดนไกลไม่ว่าจะเป็นอัฟริกา อินเดีย ละตินอเมริกาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอาหาร ถัดจากนั้นวิทยาการด้านการพิมพ์ทำให้ตำรับตำราอาหารเผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่องการปรุงและการทำไปทั่วทั้งยุโรป และที่สุดตำแหน่งพ่อครัวที่ไม่เคยมีบทบาทอะไร กลับเริ่มโดดเด่นขึ้นในฐานะของศิลปินผู้สร้างสรรค์จานอาหาร หนึ่งในนั้นได้แก่ มาเอสโตร มาร์ติโนแห่งโคโม (Maestro Martino of Como) พ่อครัวที่เคยทำงานในราชสำนักแห่งมิลาน ผู้เขียน Libro de arte coquinara (Book of the Art of Cooking)
Read More
Read More

Maillard Reaction

“การทำอาหารคือวิทยาศาสตร์” นี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่แพร่หลายในแวดวงอาหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าการค้นพบแนวคิดทฤษฎีสำคัญโดยมากนั้นมักไม่ค่อยถูกยอมรับในทันที อย่างผลงานของ Nicolaus Copernicus ที่เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็ต้องใช้เวลาเนิ่นนานนับเป็นร้อยปี กว่าจะเป็นที่ยอมรับในหมู่นักดาราศาสตร์และฟิสิกส์ จึงไม่แปลกอะไรที่นักเคมีและนายแพทย์ชาวฝรั่งเศส Camille-Louis Maillard จากเมืองน็องซี (Nancy) ผู้ค้นพบปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างอนุภาคน้ำตาลกับสารประกอบโปรตีนขณะได้รับความร้อน และได้เสนอความคิดนี้ต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิในปี 1912 ก็มิวายถูกมองเป็นเพียงรายงานวิจัยธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่งเท่านั้น
Read More